โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” OSP เป้า 45 บ. ลุ้นผลงานไตรมาส 3 โตแกร่ง

โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" OSP เป้า 45 บ. ลุ้นผลงานไตรมาส 3 โตแกร่ง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP หลังราคาหุ้นวานนี้ (16 ต.ค.) ปรับตัวขึ้นแรง โดยปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 39.25 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 3.97% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.28 พันล้านบาท โดยยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่ 45 บาท อยู่ 15%

โดยพบว่า นักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำซื้อ OSP ราคาเป้าหมาย 45 บาท อิงค่า PER เฉลี่ยที่เหมาะสมในปี 2563 ที่ 35 เท่า โดยมองว่า OSP มีศักยภาพในการเติบโตในประเทศได้จากการแตกไลน์สินค้าเพิ่ม ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น OSP เพิ่งรุกเข้าไปในประเทศหลักเช่น เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรวัยทำงานเป็นสัดส่วนสูง ตลาดโดยรวมเมื่อพัฒนาแล้วคาดว่าน่าสนใจอย่างมาก

สำหรับยอดขายเครื่องดื่มในประเทศของ OSP ช่วงไตรมาส 2/62 เติบโต 7.3% ยอดขาย Personal Care ช่วงไตรมาส 2/62 เติบโตสูงมากถึง 23.7% ทำให้ยอดขายรวมเครื่องดื่มในครึ่งปีหลังปี 2562 เติบโต 5.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน สวนทางภาพรวมอุตสาหกรรมทั้งสองประเภท สาเหตุสำคัญมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เป็นการ Turnaround ที่ชัดเจนของ 3 แบรนด์หลัก คือ ฉลาม, Babi Mind, และ Twelve Plus การใช้กลยุทธ์ “Fit Fast Firm” เริ่มเห็นผลลัพธ์เด่นชัดตั้งแต่ไตรมาส 2/62 และคาดว่าจะทำให้ยอดขายของ OSP เติบโตโดดเด่นต่อไปในครึ่งปีหลังปี 2562

ส่วนการเติบโตในต่างประเทศน่าจับตามองปัจจุบัน OSP มีสัดส่วนการขายในประเทศ 84% และต่างประเทศ 16% ซึ่งในต่างประเทศนั้นเน้นหนักไปที่ประเทศเมียนมาร์ 68% ของยอดขายในส่วนต่างประเทศ ซึ่งในสิ้นปี 2562 นี้ OSP จะเปิดโรงงานผลิตในประเทศเมียนมาร์ที่นิคมอุตสาหกรรมติลาวา เมืองย่างกุ้ง คาดว่าจะทำให้รุกยอดขายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ OSP ยังได้ Agent ที่แข็งแกร่งในเวียดนาม เตรียมรุกตลาดเวียดนามในไตรมาส 4/62 นี้ด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดอาจจะมีข้อกังวลเรื่องการเก็บภาษีน้ำตาลในอัตราใหม่เข้ามากระทบกลุ่มอุตสาหกรรม โดยในช่วง 1 ต.ค. 62 ฐานภาษีน้ำตาลใหม่จะถูกนำมาใช้ทำให้ต้นทุนภาษีเพิ่มจาก 1 บาทต่อลิตรเป็น 3 บาทต่อลิตร หากปริมาณน้ำตาลอยู่ในช่วง 14-18 กรัมต่อลิตร ซึ่งผู้ประกอบการเครื่องดื่มชั้นนำรวมทั้ง OSP ได้เตรียมการเรื่องนี้ด้วยการลดปริมาณน้ำตาลงให้ไม่เกินระดับที่กำหนด ส่งผลให้ปริมาณแคลอรี่ต่อขวดลดลงด้วย เราจึงคาดว่าผู้ประกอบการจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และยังได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเรื่องน้ำตาลน้อย ทำให้ปริมาณแคลอรี่ต่อขวดไม่สูงอีกด้วย

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” OSP ประเมินราคาเป้าหมาย 42 บาท (ปรับราคาเปาหมายอิงปี 2563)  โดย OSP จะกลับมาเติบโตกำไรหลักที่ 17% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนในช่วงไตรมาส 3/62 เทียบกับที่หดตัว 11% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนจากกำไรหลักในไตรมาส 2/62

โดยประเมินกำไรหลักไตรมาส 3/62 ที่ 828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน ยอดขายคาดที่ 6.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปีก่อน แต่ลดลง 2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนตามฤดูกาล ทั้งนี้ บล.บัวหลวงชอบ OSP เนื่องจากการการเติบโตของกำไรที่ 14% ในปี 2563 สถานะเงินสดสุทธิและมีจาก upside จากการจ่ายเงินปันผลที่อาจมากกว่าคาด valuation ปี 2563 ที่ PER 28 เท่า ซึ่งไม่แพง

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” OSP ราคาเป้าหมาย 40 บาท/หุ้น โดยหากกำไรปกติไตรมาส 3/62 เป็นไปตามคาด บริษัทจะมีกำไรสุทธิช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 อยู่ที่ 2,533 ล้านบาท และคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/62 จะโตต่อเนื่องทั้งเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบจากปีก่อน แม้คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะอ่อนตัวลงอย่างน้อย 1% จากไตรมาส 3/62 มาอยู่ที่ระดับ 34% เพราะภาษีน้ำตาลเริ่มปรับขึ้นครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2019 ที่ผ่านมา ทำให้จากที่เคยได้รับประโยชน์จากภาระภาษีที่ลดลงในช่วงช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 จะหายไป อัตราภาษีจะกลับมาอยู่ที่ 1 บาท/ลิตร จากก่อนหน้าที่ 0.5 บาท/ลิตร

ประกอบกับจะเริ่มรับรู้ค่าเสื่อมจากโรงงานแก้วแห่งใหม่ ที่เพิ่งเริ่ม Commercial Run ในไตรมาส 4/62 แต่คาดว่าจะถูกหักล้างด้วยรายได้ที่จะเติบโตตามฤดูกาลที่เป็นช่วง High Season ของธุรกิจ และทำให้กำไรในไตรมาส 4/62 เติบโตทั้งเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบจากปีก่อน แต่ด้วยการฟื้นตัวของกำไรในไตรมาส 3/62 ที่ต่ำกว่าคาด จากการเดินสายการผลิตเครื่องดื่มที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงปรับลดกำไรสุทธิปี 2562 ลง 5% เป็น 3,405 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบจากปีก่อน)

อย่างไรก็ตามคาดกำไรจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2563 ราว 15.5% เมื่อเทียบจากปีก่อนเป็น 3,934 ล้านบาท จากการรับรู้กำลังการผลิตใหม่ C-Vitt เต็มปี, อัตราการใช้กำลังการผลิตโรงแก้วแห่งใหม่สูงขึ้น และจะเริ่ม Operate โรงงานเครื่องดื่มที่พม่าในช่วงไตรมาส 1/63 (Commercial Run) คาดจะสามารถผลิตครอบคลุม Order ปัจจุบัน (ผลิตอยู่ที่โรงงานของลอยเฮง) ได้ภายในไตรมาส 2/63 จะคิดเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 60% – 65% ของโรงงานใหม่

Back to top button