OSP ขุดทองเวียดนาม

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP จัดเป็นหุ้นพื้นฐานแกร่งสตอรี่งามอีกหนึ่งตัว ที่ถูกตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง...


สำนักข่าวรัชดา

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP จัดเป็นหุ้นพื้นฐานแกร่งสตอรี่งามอีกหนึ่งตัว ที่ถูกตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง…

ทำให้ช่วง 1 ปีที่ OSP เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาด้วยราคาไอพีโอ 25 บาท ราคาปรับขึ้นไปแล้ว 79%

โอ้วแม่เจ้า…นั่นเท่ากับว่า ใครที่มีหุ้น OSP ณ ราคาไอพีติดอยู่ในพอร์ตคงรวยเละ..!

แหม๊…ช่างน่าอิจฉาจริง ๆ

OSP เป็นหุ้นในเซกเมนต์เครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีตำนานยาวนานปาเข้าไป 128 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 50%

ที่ผ่านมา OSP จะเน้นขายในประเทศเป็นหลัก โดยใช้กลยุทธ์การแตกแบรนด์ ซึ่งจะมีทั้ง เอ็ม-150, ลิโพ, ฉลาม, โสมอิน-ซัม และอื่น ๆ เพื่อจับลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม

เรียกได้ว่า ได้วาไรตี้ของแบรนด์ แต่ไม่ได้วอลุ่ม…

ทำให้ช่วงที่ผ่านมา  OSP เติบโตไม่หวือหวามากนัก…เป็นการโตแบบมีเสถียรภาพมากกว่า

โดยปี 2558 มีรายได้รวม 32,044 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,336 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 33,003 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,980 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 26,210 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,939 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 25,163 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,005 ล้านบาท

ล่าสุดงวดครึ่งปี 2562 มีรายได้รวม 12,995 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,598 ล้านบาท

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง OSP อาจเผชิญปัญหาโตยากขึ้นในการขยายตลาดในประเทศ

มิหนำซ้ำยังเจอภาษีความหวาน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ

จากปัจจัยดังกล่าว ทางแก้ของ OSP คือ ต้องออกไปขุดทองตลาดต่างประเทศแทน…

ก่อนหน้านี้ จึงเห็น OSP เริ่มขยับไปบุกตลาดต่างประเทศ ประเดิมด้วยการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่ม และขายสินค้าในประเทศเมียนมา

ล่าสุด ส่งบริษัทลูก Osotspa Enterprises Singapore Pte. Ltd. เข้าซื้อหุ้น Osotspa VTA Joint Stock Company (OSPVTA) สัดส่วน 60% เพื่อลุยธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศเวียดนาม

โดยคาดว่า OSP จะรับรู้รายได้จากกิจการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

นั่นเท่ากับว่า ต่อไปในอนาคตสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศของ OSP จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ก็น่าเสียดายที่ OSP บุกตลาดต่างประเทศช้าไปหน่อย ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง “คาราบาวแดง” ของบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และ “กระทิงแดง” ของบริษัท กระทิงแดง จำกัด ซึ่งทุกวันนี้ทั้งสองแบรนด์ กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกไปแล้ว ขณะที่ OSP ถือว่าอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น…

สาเหตุเพราะ OSP เป็นบริษัทใหญ่ อายุเก่าแก่ ทำให้ความคล่องตัวมีน้อย แถมการไปยังเป็นลักษณะคอนเซอร์เวทีฟอีกต่างหาก

จึงน่าจับตาว่า การออกไปขุดทองตลาดต่างประเทศของ OSP ครั้งนี้จะซัคเซสแค่ไหน..?

ถึงแม้จะเริ่มช้าไปหน่อย…ก็ดีกว่าไม่เริ่มเลย

…จริงมั้ยคะ “เสี่ยเพชร โอสถานุเคราห์” ขาาา

…อิ อิ อิ…

Back to top button