KKP คาดยอดขายอสังหาฯปี 63 หดตัว 38% ต่ำสุดรอบ 23 ปี

KKP คาดยอดขายอสังหาฯปี 63 หดตัว 38% ต่ำสุดรอบ 23 ปี คอนโดฯเจ็บหนักสุด


ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวถึง สถานการณ์และแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 63 จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ว่า จากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซึมยาวจากปี 62 ต่อเนื่องด้วยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การขายหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา จากการทำกิจกรรมการขายได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบยาวถึงการตัดสินใจซื้อในช่วงไตรมาส 2/63 และการที่มีจำนวนซัพพลายคอนโดมิเนียมที่ยังเหลืออยู่มาก ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดยังไม่เร่งการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้การขายยังไม่กลับมาคึกคักมาก

โดยที่ประเมินยดขายที่อยู่อาศัยในปี 63 จะลดลงมาเหลืออยู่ที่ 62,297 ยูนิต หรือหดตัวลงเกือบ 38% จากปี 62 ที่สามารถขายไปได้ 99,860 ยูนิต ทำให้ยอดขายของที่อยู่อาศัยในปี 63 ถือว่าเป็นปีที่มียอดขายต่ำที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40 แต่ในส่วนของซัพพลายที่เหลือขายจะมีแนวโน้มลดลงมาเล็กน้อยเกือบ 3% ที่ 212,590 ยูนิต จากการที่ผู้ประกอบการต่างออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการระบายสต๊อกคงเหลือ และชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนลดลง

ด้านตลาดคอนโดมิเนียมยังเป็นตลาดที่เห็นการชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนยูนิตคอนโดมิเนียมที่ขายได้จะลดลงราว 42% จากปี 62 มาอยู่ที่ 31,403 ยูนิต  ซึ่งเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีของตลาดคอนโดมิเนียม จากการชะลอการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดระดับราคาสูง โครงการขนาดใหญที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนามากกว่า 5 ปี และกลุ่มคอนโดมิเนียมที่เน้นขายนักลงทุนและกลุ่มที่ขายลูกค้าต่างชาติ

ส่วนตลาดทาวน์เฮ้าส์ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์ในพื้นที่ไม่เกินแนววงแหวนรอบนอก ในบริเวณที่อยู่ในรัศมีของการเข้าถึงรถไฟฟ้าใหม่ส่วนต่อขยายได้ยังมีความต้องการของผู้ซื้อสูง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่เข้ามาทดแทนการซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดที่ขยับราคาสูงขึ้นมาก แต่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้คาดว่าจะมียอดขายทาวน์เฮาส์ในปีนี้จะลดลงราว 30% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 20,026 ยูนิต แต่ในภาพรวมถือว่าได้รับผลกระทบในแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะทาวน์เฮ้าส์เป็นตลาดของลูกค้าที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง

ทั้งนี้มองภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังผ่านพร้นวิกฤติไวรัสโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะการปรับสู่จุดสมดุลมากขึ้น หลังจากตลาดในกลุ่มผู้ซื้อเก็งกำไรและลงทุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในตลาดคอนโดมิเนียมหายไป และเห็นการกลับมาซื้อของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจากความต้องการซื้อที่มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดของผู้ที่มีกำลังซื้ออยู่ และเป็นตลาดหลักที่ผู้ประกอบการในตลาดให้ความสนใจ แต่อย่างไรก็ตามมองว่าการฟื้นตัวของตลาดอสังหารมิทรัพย์จะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะในช่วงครึ่งปีแรกยังคงมีปัจจัยไวรัสโควิด-19 กระทบอยู่ แต่ต้องติดตามภาพของตาดที่จะสะท้อนความจริงออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

Back to top button