ความจริง (อีกด้าน) ที่ขาดหาย

กระทรวงการคลัง ประกาศงดแถลงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/63 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะปกติ นั่นหมายถึงจะไม่มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากกระทรวงการคลัง ให้นำมาใช้หรืออ้างอิงเป็นบรรทัดฐานช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้เลย


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

กระทรวงการคลัง ประกาศงดแถลงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/63 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะปกติ นั่นหมายถึงจะไม่มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากกระทรวงการคลัง ให้นำมาใช้หรืออ้างอิงเป็นบรรทัดฐานช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้เลย

แม้กระทรวงการคลังอ้างว่า..จะใช้ตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ไปก่อน

ประเด็นคำถามจึงเกิดขึ้นว่า..ทำไมกระทรวงการคลัง จึงไม่แถลงตัวเลขเศรษฐกิจส่วนของตัวเลขออกมา หรือตัวเลขที่ออกมาเลวร้ายกว่าของสภาพัฒน์ใช่หรือไม่..!? จึงผิดปกติวิสัยของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ พึงต้องสะท้อนภาพแห่งความเป็นจริงให้มากที่สุด

โดยสภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 ติดลบ 1.8% พร้อมประเมินว่าตัวเลขจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบ 5-6% โดยไตรมาส 2/63 จะติดลบมากสุดของปี จากตัวเลขการส่งออกหดตัวประมาณ 8% การบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.7% และการลงทุนรวมหดตัว 2.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยติดลบ 0.5% ถึงติดลบ 1.5%

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งด้านตลาดการเงินเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจจะหดตัว 5.3% ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3% ในปี 2564

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะหดตัว 60% และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวแรงหรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/63 หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ4% แต่ประเมินว่าไตรมาส 2/63 จะติดลบ 10% นั่นทำให้ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5%

เช่นเดียวกับ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย “เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว” โดยเป็นการ “ถดถอยทางเทคนิค” เนื่องจากตัวเลขจีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดช่วงไตรมาส 2/63 จากจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% จากมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานเรื่อง “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกช่วงโควิด-19” มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ภูมิภาคอาเซียน กรณีดีสุดและกรณีแย่สุด เริ่มไล่เรียงตั้งแต่เวียดนาม กรณีดีสุดเติบโต 4.9% แย่สุดเติบโต 1.5% สปป.ลาว กรณีดีสุดเติบโต 3.6% แย่สุดเติบโต 2.2%

สหภาพเมียนมา กรณีดีสุดเติบโต 3.0% แย่สุดเติบโต 2.0% ฟิลิปปินส์ กรณีดีสุดเติบโต 3.0% แย่สุดติดลบ 0.5% กัมพูชา กรณีดีสุดเติบโต 2.5% แย่สุดเติบโต 1.0% อินโดนีเซีย กรณีดีสุดเติบโต 2.1% แย่สุดติดลบ 3.5% มาเลเซีย กรณีดีสุดติดลบ 0.1% แย่สุดติดลบ 4.6%

ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า “เศรษฐกิจไทยถดถอย” ชัดเจน แต่กลับมาที่คำถามเดิมว่า ทำไมกระทรวงการคลัง ถึงไม่เป็นตัวของตัวเอง..เพราะตัวเลขจาก “คลัง” ถือเป็นอีกหนึ่งข้อมูลอ้างอิงอันสำคัญยิ่ง ยามวิกฤติเช่นนี้..!!

Back to top button