“ทริสฯ” หั่นเรตติ้ง BRR เหลือ “BB” แนวโน้ม “Stable” หลังผลงานทรุด-วิตกภัยแล้ง

“ทริสฯ” หั่นเรตติ้ง BRR เหลือ "BB" จากเดิม "BBB-" แนวโน้ม "Stable" หลังผลงานทรุด-วิตกภัยแล้ง


ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เป็นระดับ “BB” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

โดยการลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทที่อ่อนแอลงมากอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลเรื่องภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศไทย และราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจทำให้บริษัทอ่อนแอลงไปอีก พร้อมกันนี้ บริษัทได้แจ้งความประสงค์ขอให้ทริสเรทติ้งยกเลิกอันดับเครดิต ดังนั้น อันดับเครดิตของบริษัทที่ประกาศต่อสาธารณชนจะไม่ได้รับการทบทวนอีกต่อไปนับจากวันที่ประกาศนี้

สำหรับผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากในปี 2562 ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงมากและการแข็งค่าของค่าเงินบาทส่งผลทำให้บริษัทมีผลขาดทุนในปี 2562 โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมลดลง 12% เมื่อเทียบกับปี 2561 มาอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาทในปี 2562 และลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 990 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563

ส่วนบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 5.4% ในปี 2562 ลดลงจากระดับ 18%-19% ในช่วงปี 2560-2561 ส่งผลให้บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 512 ล้านบาทในปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 272 และปี 2560 มีกำไรสุทธิ 525 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเท่ากับ 19.2% เมื่อเทียบกับระดับ 23.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการน้ำตาลของลูกค้าต่างประเทศที่ลดลงในช่วงที่มีการปิดเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19

ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 271 ล้านบาทในปี 2562 และลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 190 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 1.0-1.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2560-2561

โดยราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงและภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปีการผลิต 2562/2563 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้และอัตรากำไรของบริษัทในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลดลงประมาณ 30% มาอยู่ที่ระดับ 3.6 พันล้านบาทในปี 2563 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.8-5.5 พันล้านบาทในปี 2564-2565

ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เซนต์ต่อปอนด์ในปี2563 และจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 12-14 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2564-2565 ดังนั้น คาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5% ในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยูที่ระดับ 7%-12% ในปี 2564-2565

ส่วนหนี้สินทางการเงินรวมที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7.7 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 6.6 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.4% ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 78.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562

โดยทริสเรทติ้งคาดหวังว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 300 ล้านบาท ซึ่งควรเพียงพอสำหรับการชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในปี 2563 จำนวน 293 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 129 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้น 1.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ด้วย

Back to top button