โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” MTC ชูเป้า 63 บ. มองกำไรปี 63 พุ่งแตะ 4.55 พันลบ. รับสินเชื่อขยายตัว

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ขณะนี้แนะนำ “ซื …


บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ขณะนี้แนะนำ “ซื้อ” หุ้นบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ในราคาเป้าหมาย 63 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิช่วงไตรมาส 2/63 ที่ระดับ 1.27 พันล้านบาท (+24% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, +2% จากไตรมาสก่อน) จากสินเชื่อที่ขยายตัว +16% เทียบกับปีก่อน ตามความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม และฤดูกาลทางการเกษตร, NPLs ที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ลดลง จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัยประเมินว่า loan yield จะปรับตัวลงตามมาตรการลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ระยะสั้นช่วง เม.ย.-ส.ค.

ทั้งนี้ยังคงกำไรสุทธิปี 2563 ที่ระดับ 4.55 พันล้านบาท (+7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) จากสินเชื่อที่ขยายตัว +10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามสาขาที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.7 พันแห่ง (จาก ณ สิ้นไตรมาส 2/63 ที่ 4.6 พันแห่ง) และจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่ากำไรสุทธิปี 2564 จะอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท (+19% เทียบกับปี 2563)

ด้านราคาหุ้นปรับตัวลง และ underperform SET -5% ในช่วง 1 เดือน จากการเข้ามาแย่งลูกค้าของธนาคารออมสินที่คิดดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รอบ 2 ที่ ธปท. ออกมากำกับเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยให้ลดลง

อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำ “ซื้อ” จาก 1) ธนาคารออมสินมีสาขาที่สามารถดูแลลูกหนี้ได้ต่ำกว่าบริษัท 2) ผลกระทบที่จำกัดจากมาตรการของธปท. 3) กำไรไตรมาส 2/63 จะยังคงขยายตัว และ 4) ผลการดำเนินงานในระยะยาวจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง คิดเป็น 2562-2563 net profit +13% CAGR และ ROAE ในระยะยาวที่ยังสูง 25%

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 จะเพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนจากคุณภาพสินเชื่อที่ดี และสำรองฯลดลง คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ที่ระดับ 1.27 พันล้านบาท (+24% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, +2% จากไตรมาสก่อน) โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจาก 1) สินเชื่อขยายตัว +16% จากปีก่อน, +1% จากไตรมาสก่อน จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. เพื่อรองรับการเปิดเทอม, สิ้นสุดโครงการเราไม่ทิ้งกัน (5.0 พันบาท/เดือน, 3 เดือน) และเข้าสู่ช่วงฤดูกาลทางเกษตร

รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำให้สินเชื่อเดิมทยอยครบกำหนดช้าลง โดย ณ ปัจจุบันบริษัทได้ช่วยเหลือลูกหนี้ประมาณ 8% ของสินเชื่อรวม, 2) NPLs ลดลงเป็น 1.1% (ไตรมาส 2/62 = 1.1%, ไตรมาส 1/63 = 1.2%) และ 3) Credit cost ลดลงอยู่ที่ 55 bps (ไตรมาส 2/62 = 144 bps, ไตรมาส 1/63 = 85 bps) จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำให้ลูกหนี้จัดชั้น Stage 1 เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายสำรองฯตาม ECL Model ลดลง

ขณะที่ฝ่ายวิจัยประเมินว่า Loan spread จะลดลงเป็น 21.3% (ไตรมาส 2/61 = 21.8%, ไตรมาส 1/63 = 21.7%) จาก Loan yield ที่ลดลงอยู่ที่ 17.5% (ไตรมาส 2/62 = 18.1%, ไตรมาส 1/63 = 17.9%) ตามการช่วยเหลือลูกหนี้

โดยบริษัทได้ลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ทุกราย ดังนี้ 1) สินเชื่อ P.loan ลดเหลือ 22% (จาก 25% ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.) และ 2) สินเชื่อจำนำทะเบียนในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. สำหรับรถจักรยานยนต์เหลือ 21.25% (จาก 21.55%) และรถยนต์เหลือ 19% (จาก 20.55%)

อย่างไรก็ตาม คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 4.55 พันล้านบาท (+7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) จาก 1) สินเชื่อขยายตัวที่ +10% จากปีก่อน ตามสาขาที่เพิ่มขึ้นเป็น 4,707 แห่ง (จากปี 2562 ที่ 4,107 แห่ง และ ณ สิ้นไตรมาส 2/63 ที่ 4,568 แห่ง), 2) NPLs ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% (จากปี 2562 ที่ 1.0%) จากสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่หดตัว  และ 3) ค่าใช้จ่ายสำรองฯ เพิ่มขึ้นเป็น credit cost 150 bps จากความระมัดระวังในการตั้งสำรองฯที่สูงขึ้น

โดยคิดเป็น LLR/Loan 3.4% จากปีก่อนที่ 2.8% สำหรับกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 5.4 พันล้านบาท (+19% จากปีก่อน) จาก 1) สินเชื่อขยายตัวที่ +9% จากปีก่อน, 2) NPLs ที่ 1.3% และ 3) ค่าใช้จ่ายสำรองฯ คิดเป็น credit cost 93 bps

สำหรับราคาเป้าหมาย 63.00 บาท อิง 2563 PBV 6.7 เท่า (-0.25SD below 5-yr average PBV) จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และกระทบกลุ่มรากหญ้าที่เป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท รวมทั้งความเสี่ยงที่ ธปท. จะเข้ามาควบคุมเพิ่มขึ้นในอนาคต หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น

Back to top button