ตลท.เล็งเพิ่มเกณฑ์คุมหุ้น Free Float ต่ำ รับมือตลาดหุ้นผันผวน

ตลท.เล็งเพิ่มเกณฑ์คุมหุ้น Free Float ต่ำ รับมือตลาดหุ้นผันผวน


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ในปี 64 นั้น ต้นปีได้รับแรงสนับสนุนจากข่าวการผลิตวัคซีนโควิด-19 และกระแสเงินทุนไหลเข้า (Fund Flow) ส่งผลทำให้มูลค่าซื้อขายปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่ ตลท.จะให้ความสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถรองรับกับสภาวะเหล่านี้ได้ หรือไม่ให้ตลาดเกิดความผันผวนมากนัก

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ตลท.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงมาตรการกำกับดูแล รวมไปถึงศึกษาหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลหุ้นที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่ในระดับต่ำ (ฟรีโฟลทต่ำ)จากปัจจุบันก็มีวิธีการจัดการอยู่ราว 3-4 โซลูชั่น หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว

โดยที่ผ่านมา ตลท.ก็มีขั้นตอนการกำกับดูแลในส่วนของหุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กำหนดให้มีการกระจายการถือหุ้นรายย่อยอย่างน้อย 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวหากเทียบกับต่างประเทศ ถือว่าไม่ได้ต่ำ เพราะต่างประเทศอยู่ที่ 10-15%, การเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนได้รับทราบเพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนมีฟรีโฟลทเพิ่มขึ้นให้ได้ตามเกณฑ์

ส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีฟรีโฟลทต่ำนั้น ตลท.ดูแลทุกบริษัทอย่างเท่าเทียมกันตามสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยหากพบว่ามีราคาซื้อขายที่ผิดปกติก็จะมีการติดตามให้บริษัทจดทะเบียนนั้นๆ เปิดเผยถึงพัฒนาการที่มีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงมีมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายต่างๆ เช่น การซื้อขายด้วยบัญชีวางเงินล่วงหน้า (cash balance) เป็นต้น

“ที่ผ่านมาเรามีการกำกับดูแลตามขั้นตอนมาตรฐาน แต่ด้วยสภาวะแวดล้อมในช่วงนี้ ก็เป็นปัจจัยให้เราคำนึงเพิ่มขึ้น ว่าเราจะสามารถทำอะไรเพิ่มได้อีก ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เช่น จะสามารถมีมาตรการกำกับดูแล เพื่อทำให้ตลาดไม่ผันผวนได้อย่างไร และเราก็จะมีการหารือกับก.ล.ต. หากมีความคืบหน้าก็จะนำเรียนในลำดับต่อไป” นายภากร กล่าว

ขณะที่ปีนี้ ตลท.วางเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) ในปี 64 ยังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปี 62-63 เนื่องจากมีบริษัทให้ความสนใจเข้ามาระดมทุนค่อนข้างมาก ปัจจัยสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับ 3 ด้าน คือ ความพร้อมของข้อมูล, ความต้องการใช้เงินของบริษัทจดทะเบียน และสภาวะตลาดทุนไทย ขณะเดียวกัน ตลท.จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S-Curve) เป็นต้น

สำหรับการเปิดให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังคงเน้นที่จะเริ่มจากกลุ่มบริษัทในประเทศ CLMV แต่ในปีที่ผ่านมาอาจเห็นการเลื่อนการเข้าจดทะเบียนฯ ไปบ้าง เนื่องจากการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลของบริษัทที่ต้องการระดมทุนที่ยังล่าช้า ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ และหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปตรวจสอบกิจการค่อนข้างติดขัด

ส่วนการขยายฐานผู้ลงทุนใหม่ๆ ตลท.ก็จะมุ่งไปในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุนรวม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ประกันชีวิตควบการลงทุน โดยจะนำดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเปืดบัญชี ทำธุรกรรมทำได้ง่ายขึ้น และน่าจะทำให้จำนวนผู้ลงทุนในภาพรวมเพิ่มมากขึ้นด้วย

ด้านความคืบหน้าของกระดานเทรดที่ 3 หรือการซื้อขายหุ้น SME ตลท.ตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 3/64 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.พิจารณาอนุมัติ

 

 

Back to top button