พาราสาวะถี

สถานการณ์โควิด-19 จากการค้นหาเชิงรุกพบผู้ป่วยใกล้หลักพันตลอดเกือบสัปดาห์ เฉพาะพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม


อรชุน

สถานการณ์โควิด-19 จากการค้นหาเชิงรุกพบผู้ป่วยใกล้หลักพันมาตลอดเกือบสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงทำให้ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม ได้รับการผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมประกอบกิจการแค่เล็กน้อยจากที่ประชุมศบค.ชุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ คือสีแดงหรือควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด กทม. นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ แม้จะดูว่าไม่มากเหมือนอีก 3 พื้นที่ที่เหลือคือ ควบคุม เฝ้าระวังสูงสุดและเฝ้าระวัง แต่ก็เรียกว่าทุกอย่างแทบจะปกติ

หมายความว่า การใช้ชีวิตประจำวันจากกิจการ กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย อาจถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลาและจำนวนคนหรือข้อห้ามบางประการ แต่ก็แทบจะไม่มีผลอะไร หากเทียบเคียงกับการใช้ชีวิตประจำวันที่แทบจะเป็นวิถีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เข้าใจได้ว่ามาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขคงประเมินมาแล้ว คาดว่าน่าจะพอเอาอยู่รับมือได้ หากยังเข้มงวดเหมือนสมุทรสาคร เกรงว่าผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนจะมีปัญหาหนัก

แน่นอนว่า นั่นจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องแบกรับจนอาจกระเตงต่อไม่ไหว การเปิดให้มีช่องหายใจในทางธุรกิจ จึงเชื่อว่าน่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมพอขับเคลื่อนไปได้ ประกอบกับในกลางเดือนหน้าถ้าวัคซีนส่วนหนึ่งมาถึง แล้วเริ่มฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าและคนในกลุ่มเสี่ยง จากนั้นก็ทยอยดำเนินการต่อเนื่อง น่าจะส่งผลต่อการลดประมาณการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ของประเทศได้ในระดับที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม จับอาการของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในการแถลงหลักการประชุมศบค.ชุดใหญ่ เห็นได้ชัดว่า มีความเครียดต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ หลังจากเดินลงจากโพเดียมแถลงข่าวจึงหันมาบอกนักข่าวด้วยประโยคที่ว่า “เรื่องสาธารณสุข เศรษฐกิจ ความมั่นคง พันกันไปหมด รัฐบาล และนายกฯ บริหารจัดการได้” เป็นข้อความที่ต้องการสื่อประมาณว่าอย่าได้เป็นห่วง ทั้งที่ความเป็นจริงคำถามที่คนส่วนใหญ่อยากรู้คือ จัดการเรื่องเสถียรภาพของตัวเองและคณะได้หรือดูแลประชาชนได้ดีกันแน่

น่าจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า เพราะถ้าดูตามหน้าเสื่อเวลานี้ต้องยอมรับความเป็นจริงกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ได้ทำตัวกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับขบวนการสืบทอดอำนาจไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการไม่หือไม่อือต่อสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริง พรรคของ อนุทิน ชาญวีรกูล นั้น พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า เลือกที่จะยืนเคียงข้างและปกป้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และหนุนอำนาจอนุรักษนิยมอย่างสุดตัวจนถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตยที่ตัวเองกล่าวอ้าง

ฟากของพรรคเก่าแก่ สิ่งที่จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญคือ การเลือกตั้งซ่อมส.ส.นครศรีธรรมราชเขต 3 กับการที่คนของพรรคออกมาทักท้วงพรรคสืบทอดอำนาจที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศหนักแน่นจะส่งผู้สมัครลงแข่งขันแน่นอน โดยล่าสุดก็เป็นการตอกกลับประชาธิปัตย์จนหน้าหงาย เมื่อมีการอ้างว่า การเลือกตั้งเป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องมารยาททางการเมือง และพรรคจะส่งคนลงสมัครแน่นอน

คำถามที่สำคัญคือ ประชาธิปัตย์อ้างว่าที่ผ่านมาเลือกตั้งซ่อมหลายจังหวัดแม้พรรคจะส่งคนลงชิงชัยได้ แต่เมื่อคนมีคนของพรรคสืบทอดอำนาจลงแข่งขัน พรรคจึงหลีกทางให้ แล้วทำไมมาหนนี้พรรคแกนนำรัฐบาลถึงจะส่งคนมาลงชิงชัยกันเอง คำตอบไม่ยาก หันกลับไปดูผลการเลือกตั้งส.ส.เมื่อเดือนมีนาคม 2562 คนของพรรคแกนนำรัฐบาลแพ้ เทพไท เสนพงศ์ ไปแค่ 4 พันกว่าคะแนน นั่นย่อมหมายความว่า ในการเลือกตั้งซ่อมถ้าส่งคนลงสมัครย่อมมีลุ้นล้มคนของพรรคแชมป์เก่าได้

ในทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องของมารยาท หากแต่เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบกุมฐานคะแนนเสียง เพื่อหวังผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า และนี่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ฐานเสียงของพรรคสืบทอดอำนาจและพรรคเก่าแก่คือฐานเดียวกัน และการวางเป้าหมายในการทำลายบางพรรคการเมืองให้อ่อนแอลงนั้น ท้ายที่สุดไม่ใช่เพื่อไทยแต่กลับเป็นประชาธิปัตย์ที่รับผลสะเทือนนั้นไปเต็ม ๆ ผลการเลือกตั้งหนก่อนบ่งชี้ชัด และครั้งหน้าก็ยิ่งจะหนักกว่าเดิม

นั่นจึงกลายเป็นปุจฉาตัวโตที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะต้องตอบข้อสงสัยของลูกพรรคให้ได้ว่า ถ้าต้องการจะสร้างพรรคให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต ต้องเกาะอยู่กับอำนาจสืบทอดต่อไปอย่างนั้นหรือ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นหนทางนำพาพรรคไปสู่สถานการณ์สาละวันเตี้ยลง โดยผลที่จะเกิดจากการส่งคนลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งซ่อมแทนเทพไทนั้น จะเป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจของอู๊ดด้าและพรรคเก่าแก่อย่างสำคัญ จะเลือกรักษาอำนาจและผลประโยชน์ที่ดำเนินอยู่เวลานี้หรือรักษาหลักการ ภาพลักษณ์ที่ดีของพรรค

ศึกซักฟอกที่มีปัญหากันตั้งแต่เรื่องญัตติ จากเดิมที่ ชวน หลีกภัย ขอร้องให้ฝ่ายค้านแก้บางถ้อยคำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่สุดท้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันทำทุกอย่างถูกต้องไม่มีการแก้ไขแม้แต่คำเดียว จึงเป็นผลให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องบรรจุญัตติเข้าสู่วาระไปโดยปริยาย โดยมีการย้อนไปยังคนของพรรคแกนนำรัฐบาลโดยเฉพาะ สิระ เจนจาคะ ที่ตามติดและเล่นงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องว่า เวลาที่หารือกับพรรคฝ่ายค้านที่สิระอยู่ในวงถกด้วยไม่เห็นพูดอะไรแม้แต่คำเดียว

พอลับหลังหรือต่อหน้าสื่อก็มาแยกเขี้ยวขู่ถึงขั้นจะดำเนินคดีในมาตรา 112 ต่อพรรคฝ่ายค้าน และทันทีทันใดทางด้านของพรรคก้าวไกลอย่าง รังสิมันต์ โรม ก็ประกาศกร้าวไม่ต้องมากดดันเพราะไม่กลัว และอย่าทำให้สังคมเห็นว่ามีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ประสาคนชอบค้าความคงไม่มีทางที่จะใส่เกียร์ถอยแน่นอน ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจว่าจะมีผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คงเป็นเรื่องที่จะมีการส่งประเด็นญัตติที่ถูกมองว่าก้าวล่วงสถาบันไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมากกว่า โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องส่งเรื่องก่อนที่จะมีการประชุมเพราะหมายถึงถ้าศาลรับเรื่องไว้พิจารณาจะทำให้ต้องมาถกกันว่าการอภิปรายทำได้หรือไม่ หากไปยื่นในจังหวะที่จะมีการประชุมแล้ว เชื่อได้ว่าจอมหลักการคงปล่อยให้มีการซักฟอกไปก่อนเพราะศาลยังไม่รับเรื่อง ภายใต้สถานการณ์ขาลงการแอ็คชั่นโดยประเด็นเช่นนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เราไม่ได้เห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น

Back to top button