“KBANK-SCB-BBL” วิ่งรับกนง.คงดอกเบี้ย 0.50% คลายกังวลกำไรแบงก์ถูกกด

แบงก์ใหญ่ “KBANK-SCB-BBL” ราคาหุ้นวิ่งคึกขานรับ กนง. คงดอกเบี้ยเดิม 0.50% ปลดล็อกคลายกังวลกำไรแบงก์ถูกกด ด้านกสิกรไทยมองแบงก์ชาติคงดอกตลอดปีนี้ เหตุผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 รอบใหม่ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้แบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ทั้งสามราคาปรับตัวคึกคักสามารถปิดบวก สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเกิดการคลายกังวลเรื่องของดอกเบี้ยหลังจากทาง กนง. ประกาศนโยบายคงดอกเบี้ยเดิม 0.50%

โดยจากก่อนหน้าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าทาง กนง. อาจมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จากระดับ 0.50% หลังจากมีการระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้เกิดแรงเทขายทั้งสามแบงก์ใหญ่ออกมา เนื่องจากหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือมาร์จิ้นจากการปล่อยกู้จะหดแคบลง ซึ่งจะทำให้ไปกดทางด้านกำไรสุทธิลดลง

กระทั่งวานนี้เมื่อทาง กนง.ประกาศออกมาเป็นเอกฉันท์ว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้คงเดิม 0.50% ส่งผลให้เกิดการปลดล็อกต่อหุ้นแบงก์ใหญ่ KBANK, SCB, BBL เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือมาร์จิ้นจากการปล่อยกู้คงเดิม ผลตามมาทำให้เกิดการคลายกังวลของนักลงทุนจนทำให้เข้ามาไล่ราคาหุ้นกลับปิดบวกได้

อย่าง KBANK ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 133.50 บาท บวกไป 2.50 บาท หรือขึ้นไป 1.91% มูลค่าการซื้อขาย 4,064.80 ล้านบาท ตามด้วย SCB ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 97.00 บาท บวกไป 2.50 บาท หรือขึ้นไป 2.65% มูลค่าการซื้อขาย 3,114.37 ล้านบาท และ BBL ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 115.00 บาท บวกไป 1.50 บาท หรือขึ้นไป 1.32% มูลค่าการซื้อขาย 2,656.89 ล้านบาท

ส่วนรายละเอียดของนโยบายว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยจาก นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ผลการประชุม กนง. ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทย โดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงต่ำและความไม่แน่นอน ที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถ ในการด่าเนินนโยบายการเงินที่มีจ่ากัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

“คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรกจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออก ที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง”นายทิตนันทิ์กล่าว

นายทิตนันทิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุง โครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต

ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจ โดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแล เศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้ น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการ ภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการด่าเนินนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ด้านห้องค้าธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า กนง. จะยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว เมื่อสถานการณ์การระบาดค่อยๆ คลี่คลาย และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังใกล้ขอบล่างของเป้าเงินเฟ้อ

สำหรับเหตุผลสนับสนุน กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.50% เนื่องจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 รอบใหม่ไม่รุนแรงเท่ารอบก่อน เนื่องจากมาตรการปิดเมืองเข้มงวดน้อยกว่า และรัฐออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุด ขณะที่ส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น

รวมทั้งการรักษาขีดความสามารถด้านนโยบายการเงินที่จำกัด เพื่อใช้ในยามเหมาะสม

Back to top button