FPI พุ่งแรง 11% นิวไฮรอบ 7 เดือน ลุ้นรายได้ปีนี้โต 15% ตุนแบ็กล็อกหนา 700 ล้าน

FPI พุ่งแรง 11% นิวไฮรอบ 7 เดือน ลุ้นรายได้ปีนี้โต 15% ตุนแบ็กล็อกหนา 700 ล้าน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI ณ เวลา 15.01 น. อยู่ที่ระดับ 2.02 บาท  บวก 0.21 บาท หรือ 11.60% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 35.85 ล้านบาท  ราคาหุ้นแรงในรอบ 7 เดือน โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 2.02 บาท เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63

โดยก่อนหน้านายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินธุรกิจในปี 2564 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะมีรายได้รวมเติบโต 15% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากมีงานในมือ ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า (Backlog) ไว้แล้วประมาณ 600-700 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจรับผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประเทศอินเดีย ผ่าน FPI AUTOPARTS INDIA PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยในปี 2564 คาดว่าธุรกิจที่อินเดียจะเริ่มเทิร์นอะราวด์ เพราะเป็นปีแรกที่สามารถรับรู้รายได้ทั้งหมด หลังจากเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว

โดยหลังบริษัทเข้าซื้อหุ้นทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนในด้านต่าง ๆ ได้ดี พร้อมเริ่มทำการตลาดในอินเดีย ส่งผลให้มีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าระยะยาว อินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างมาก จะทำให้สามารถเป็นฐานผลิตให้กับ FPI ได้ โดยใช้เป็นฐานในการส่งออก เพราะต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้รับงานที่เป็นคำสั่งผลิต (OEM) จากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำสัญญารับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในรุ่น รีโว และฟอร์จูนเนอร์  ล่าสุดมีออเดอร์ในส่วนของรถยนต์รุ่นที่ออกใหม่เข้ามาเพิ่ม ได้แก่ โตโยต้าครอส รีโว่ ร็อคโค่ และฟอร์จูนเนอร์ รวมถึงค่ายรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด นิสสัน มิตซูบิชิ  ส่งผลให้งานด้าน OEM ของบริษัทเติบโตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อจะผลิตสินค้ารองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต และพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่  ซึ่งจะช่วยทำให้มีรายได้เพิ่ม และสนับสนุนให้มีการเติบโตได้อย่างมั่นคง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  บริษัทยังคงมาตรการที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับผลกระทบที่มีนัยสำคัญกับสายการผลิต และจะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน

Back to top button