สธ. เปิดไทม์ไลน์ “แอสตร้าฯ” ชี้เจรจาส่งมอบรายเดือน ตามความต้องการ-กำลังผลิต

สธ.แจงไทม์ไลน์การจัดหา “แอสตร้าเซนเนก้า” โดยพิจารณาส่งมอบเป็นรายเดือน ตามความต้องการและกำลังการผลิต ไม่สามารถระบุวันเวลาหรือจำนวนส่งมอบได้



นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีการทำสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยนายแพทย์โอภาส เปิดเผยว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่องค์ความรู้และการจัดการเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งตอนนี้สายพันธุ์เดลตาระบาดไปทั่วโลก มีการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้นการก่อโรคเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การระบาดทั่วโลกและประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ดังนั้นการอ้างอิงข้อมูลเวลาใดเวลาหนึ่งมาพูดในปัจจุบันอาจไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากวันนี้พูดอาจจะถูกต้องแต่อนาคตอาจจะผิดเรื่องของวัคซีนโควิด 19 ก็เช่นกัน มีการผลิตออกมาในเวลาไม่ถึงปีเป็นการผลิตเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินจากปกติที่ใช้เวลานานหลายปี ซึ่งวัคซีนบางชนิด 50 ปียังทำไม่สำเร็จ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนเอชไอวี ซึ่งวัคซีนโควิด 19 ทุกตัวขณะนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับได้ในภาพรวม

สำหรับไทม์ไลน์โรคโควิด 19 และการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเริ่มจากช่วงเดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด 19 รายแรก, วันที่ 25 มีนาคม 2563 ประเทศไทยออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีผลบังคับใช้ 26 มีนาคม 2563 หลังพบการระบาดมากขึ้น, วันที่ 22 เมษายน 2563 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผนการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ของประชากรไทย, วันที่ 24 สิงหาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามาให้ผู้ผลิตในไทยทำให้มีแหล่งผลิตในประเทศไทย

ส่วนวันที่ 23 กันยายน 2563 คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น, วันที่ 9 ตุลาคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเอกสาร และ 12 ตุลาคม 2563 ออกประกาศจัดหาวัคซีนในกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยให้กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดหาโดยการจองล่วงหน้าซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการวิจัย อีกทั้งอาจผลิตสำเร็จหรือไม่ก็ได้

อีกทั้งต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้ากับแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส,  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย โดยแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เพื่อจองซื้อวัคซีน, วันที่ 5 มกราคม 2564 ครม.รับทราบ มติที่ศบค. ให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส, วันที่ 20 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน

ทั้งนี้วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564  ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส, วันที่ 2 มีนาคม 2564 ครม.รับทราบ และอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มสำหรับ 35 ล้านโดส, วันที่ 25 มีนาคม 2564 กรมควบคุมโรคส่งสัญญาที่ลงนามแก้ไขให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย, วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ได้รับสัญญาตอบกลับจากแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทยและประเทศอังกฤษ หรือใช้เวลา 2 เดือนจึงได้รับการตอบกลับ และวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ครม.เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน 61 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิถุนายน  – ธันวาคม 2564

ขณะเดียวกันในการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ตามกำหนดการจะเริ่มเดือนมิถุนายน 2564 แต่เนื่องจากประเทศไทยมีการระบาดจึงมีการส่งมาให้ก่อน 2 ล็อต ได้แก่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 117,300 โดส และวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 จำนวน 242,100 โดส รวม 359,400 โดส, สำหรับเดือนมิถุนายน 2564 ส่งมา 5,130,000 โดส ได้แก่ วันที่ 4 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,787,100 โดส, วันที่ 16 มิถุนายน 2564 จำนวน 610,000 โดส, วันที่ 18 มิถุนายน 2564 จำนวน 970,000 โดส, วันที่ 23 มิถุนายน 2564 จำนวน 593,300 โดส, วันที่ 25 มิถุนายน 2564 จำนวน 323,600 โดส และวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จำนวน 846,000 โดส เมื่อรวมกับวัคซีนที่ส่งมาก่อนหน้านี้เป็น 5,489,400 โดส

โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 ส่งมาจำนวน 2,704,100 โดส ได้แก่ วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 จำนวน 590,000 โดส, วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 จำนวน 555,400 โดส, วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,053,000 โดส และวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จำนวน 505,700 โดส รวมทั้งหมด 12 ล็อต จำนวน 8,193,500 โดส จะเห็นว่าเมื่อผลิตและตรวจรับรองรุ่นการผลิตเสร็จก็ทยอยส่งมอบเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่าจะส่งเป็นรายสัปดาห์

สำหรับจดหมายของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ส่งถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอบคุณที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นนอกอาเซียน คือ มัลดีฟส์ และไต้หวัน รวม 8 ประเทศ มีการระบุถึงข้อตกลงเจรจาจะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยเริ่มในเดือนมิถุนายน 2564 แต่มีการส่งล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และพูดถึงเรื่องจำนวนวัคซีนที่สั่งจองซึ่งประเทศไทยมีการจองมากที่สุด 61 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนที่มีการจองในอาเซียน บริษัทยืนยันการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทย 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ และจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา

“ช่วงทำสัญญาจองและลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนจริง เป็นการทำสัญญาจองล่วงหน้าจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า แต่ละเดือนจะผลิตได้เท่าไร ส่งให้เท่าไรและเมื่อไร จึงต้องมีการเจรจาแจ้งล่วงหน้าเป็นรายเดือน ซึ่งวันที่ 24 เมษายน 2564 กรมควบคุมโรคทำหนังสือแจ้งแอสตร้าเซนเนก้าว่าต้องการวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2564 เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 5 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส แต่การส่งมอบวัคซีนขึ้นกับกำลังการผลิตว่าได้มากน้อยเท่าไรและส่งให้เราได้เท่าไร ดังนั้น จำนวนที่แจ้งไปไม่ได้แปลว่าจะได้ 100% ต้องเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่ายในแต่ละเดือน และตอนทำสัญญาไม่มีการระบุจำนวนวัคซีนที่จะส่งออกต่างประเทศ เพียงแต่ระบุว่าขอให้ประเทศไทยสนับสนุนและไม่ขัดขวางการส่งออกไปต่างประเทศ” นายแพทย์โอภาส กล่าว

ส่วนกรณีที่จดหมายมีการระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสนั้น เป็นการอ้างอิงถึงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยมีการสอบถามความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่มีคือเคยฉีดเดือนละ 3 ล้านโดส กรมควบคุมโรคยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการว่าจะฉีดได้แค่ 3 ล้านโดส ต่อมามีตัวเลขประมาณการณ์และแจ้งแอสตร้าเซนเนก้าว่าขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดสถ้ามีวัคซีนเพียงพอ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่บอกว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งให้ไทยเท่าไร มี 2 ส่วน คือ ความต้องการของประเทศไทยและกำลังการผลิตจะต้องเอา 2 ส่วนมาเชื่อมต่อกันจึงจะเป็นการส่งวัคซีนจริง ซึ่งขณะนี้ก็มีการส่งมาให้เรื่อยๆ บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตามประเด็นว่าจะจัดส่งวัคซีนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 นั้น ขณะนี้การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยพยายามจะผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้แจ้งจำนวนการผลิตมาจากการคำนวณอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้นถ้าคิด 1 ใน 3 คือจำนวน 5 ล้านโดสต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ และการผลิตวัคซีนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมทั้งชีววัตถุตั้งต้นจึงยากที่บริษัทจะรับปากได้ 100% แต่จำนวนวัคซีนในสัญญากับความต้องการของไทยคือ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือนซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าไม่เคยออกมาระบุว่าจะส่งมอบถึงพฤษภาคม 2564 เป็นแค่จำนวนประมาณการณ์จึงต้องมีการเจรจากันต่อไป

Back to top button