SPCG ปักเป้ารายได้ปีนี้ทะลุ 5 พันลบ. มั่นใจโซล่าร์ฟาร์ม-รูฟท็อปฟื้นครึ่งปีหลัง

SPCG คงเป้ารายได้ปีนี้โต 5,000–5,500 ล้านบาท เชื่อครึ่งปีหลังฟื้นด้วยธุรกิจโซล่าร์ฟาร์มเข้าช่วงไฮซีซั่นของการผลิตกระแสไฟฟ้า และคาดธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปลูกค้าจะกลับมาลงทุนในไตรมาส 3-4/2564


นายพิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทฯยังคงเป้าหมายรายได้ปี 2564 ไว้ที่ 5,000 – 5,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,047.31 ล้านบาท แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยอดรายได้ครึ่งปีแรกลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 2,360.60 ล้านบาท จากยอดขายโซลาร์รูฟไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ รวมถึงยังมีโซลาร์ฟาร์ม 3 แห่งที่สิ้นสุดการรับรู้รายได้ขายไฟฟ้าแบบ Adder ที่ 8 บาทไปแล้ว จึงส่งผลกระทบกับรายได้ดังที่กล่าวมา

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 3/2564 ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจากการติดตามข้อมูลการผลิตในเดือน ก.ค. – ส.ค.2564 ค่าพลังงานก็ยังใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่ในส่วนของธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ยอมรับว่าในเดือน ส.ค.สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ลูกค้าชะลอการลงทุน แต่คาดว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายจะทำให้ลูกค้ากลับมาพิจารณาลงทุนอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 3/2564 หรือไตรมาส 4/2564

ทั้งนี้บริษัทฯจึงยังคงเป้ายอดขายจากการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปปีนี้ไว้ที่ 500-800 ล้านบาท แม้ยังประสบปัญหากับสถานการณ์โควิด-19 แต่บริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์ขยายไปสู่ธุรกิจลิสซิ่ง โดยร่วมกับ บริษัท Mitsubishi UF J Lease and Finance ของญี่ปุ่น และร่วมกับ PEA ENCOM บริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดตั้งบริษัท MSEK Power ทำธุรกิจลิสซิ่งโซลาร์เพาเวอร์รูฟ โดยลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินแต่ใช้ลักษณะการใช้การประหยัดพลังงานของลูกค้ามาจ่ายค่าค่างวด  ซึ่งลูกค้าก็ให้ความสนใจอย่างมาก ปัจจุบันบริษัทฯมีลูกค้าอยู่ใน Pipeline ไม่ต่ำกว่า 20 ราย และในส่วนนี้ 70 – 80% เป็นลูกค้าลิสซิ่ง แต่เนื่องด้วยภาวะโควิด-19 ทำให้ทางบริษัทลิสซิ่งต้องมีการวิเคราะห์เครดิตลูกค้า หรือพิจารณาการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง

อีกทั้งในช่วงปี 2563 – 2567 บริษัทฯจะมีโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ได้ Adder ในราคา 8 บาท ระยะเวลา 10 ปี ทยอยสิ้นสุดอายุสัญญา Adder ลงรวมทั้งสิ้น 36 โครงการ ซึ่งได้มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานได้ 385 ล้านหน่วย แบ่งเป็น ในปี 2563 มีโครงการที่หมด Adder 1 โครงการ, ปีนี้ 4 โครงการ, ปี 2565 อีก 4 โครงการ, ปี 2566 ทั้งหมด 14 โครงการ และปี 2567 อีก 13 โครงการ คาดการณ์ว่าภายหลังจากหมด Adder ในปี 2567 แล้ว จะส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทฯหายไปประมาณ 1,300 – 1,500 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทฯมองหาโอกาสในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศจะเน้นไปที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศจะเน้นที่ญี่ปุ่นเนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ในระยะสั้นบริษัทฯจะดำเนินการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและรักษาระดับกำลังการผลิตให้ใกล้เคียงเดิม เพื่อชดเชยกับ Adder ที่จะทยอยหมดลง

สำหรับโครงการลงทุนในปัจจุบันบริษัทฯยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Ukujimaกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ กำหนด COD ในเดือนก.ค.2566 โดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร มีผู้ถือหุ้นหลัก 9 ราย โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 17.92% ขนาดการลงทุนรวม 52,000 ล้านบาท เป็นส่วนของบริษัท 2,630 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในปี 2568 ไม่น้อยกว่า 286 ล้านบาท

นอกจากนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ณ เกาะคิวชู (Kyushu) เมืองมิยาโกะฝั่งใต้ กำลังการผลิต 44 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในเดือน ก.พ.2566 โดยทั้งโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 7,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนการลงทุนของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 10%

Back to top button