ALT โชว์แบ็คล็อก 1.3 พันลบ. ลุยเจรจาลูกค้า 2 ราย มั่นใจปีนี้เทิร์นอะราวด์!

ALT ยกปี 65 เป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์การลงทุน โชว์แบ็คล็อก 1.3 พันลบ. ลุยเจรจาลูกค้ารายใหญ่ 2 รายเช่าโครงข่ายของ ALT คาดชัดเจนเร็วๆ นี้ ประเมินแต่ละรายสร้างรายได้ให้กว่า 1,000 ลบ. มั่นใจปีนี้เทิร์นอะราวด์


นางปรีญาภรณ์  ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ  ALT ได้นำเสนอข้อมูลผลประกอบการไตรมาส 4 /2564 และทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2565 จะเป็นปีที่ดีของ ALT เป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และเป็นจุดเทิร์นอะราวด์ของผลประกอบการ โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 1.3 พันล้านบาท

“ที่ผ่านมา ALT ได้มีการลงทุนมูลค่าสูงมากในการวางโครงข่ายพื้นฐานรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และก็ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว  เราจึงเชื่อมั่นว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ดีปีแห่งการเก็บเกี่ยว” นางปรีญาภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนค่อนข้างมากในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมาสู่โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจดิจิทัล-พลังงานทดแทน เพื่อสร้าง New S-curve และปีนี้ก็จะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุน ทั้งในส่วนของสถานีชายฝั่งเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำ, ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ธุรกิจแพลตฟอร์มอัจฉริยะ, ธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart Energy)

นอกจากนี้บริษัทยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น  ASEAN Digital Hub  ซึ่งมีโอกาสสูงมาก เมื่อพิจารณาจากการดำเนินนโยบาย เช่น EEC ที่ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์  ไทยเป็นจุดกึ่งกลางมากที่สุดในการเชื่อมตะวันออกและตะวันตก  จากยุโรป ไปญี่ปุ่น  มีพื้นที่ติดต่อชายแดนหลายประเทศ  ลาว กัมพูชา สามารถวางโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลก และเชื่อมต่อโดยตรงไปยังภูมิภาคอื่นๆ ประกอบกับประเทศสิงคโปร์  มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ ห้ามลงทุนเพิ่ม ทำให้บริษัทผู้ให้บริการด้านข้อมูลและธุรกิจออนไลน์รายใหญ่ (Hyperscaler) ต้องหาที่ลงทุนตั้งฐานข้อมูลสำรอง  และสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

โดย Hyperscaler รายใหญ่ของโลก 4 ราย  ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย  และปัจจุบัน มี Hyperscaler 1 รายเลือกใช้โครงข่ายของ ALT ส่วนรายที่ 2 กำลังเจรจาคาดจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้   ซึ่งแต่ละบริษัทจะสร้างรายได้ให้มากกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับสัญญาระยะยาว 15 ปี

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดในภาคธุรกิจตื่นตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจเพื่อหาโอกาสจากตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ (New growth driver) แต่กว่าจะมาเป็นออนไลน์ ดิจิทัล และแพลตฟอร์ได้ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคม  ซึ่งการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ALT ถือว่าได้รับประโยชน์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

Back to top button