“น้ำมันแพง-ค่าครองชีพสูง” ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.ต่ำสุดรอบ 9 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลง 40.2  ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคา “ดีเซล” ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 40.7 เป็น 40.2 โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล การตรึงราคาน้ำมันในไตรมาส 3 การผ่อนคลายการเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การกระจายกิจกรรมร้านธงฟ้าไปในกลุ่ม พื้นที่ผู้ที่มีรายได้น้อย การพิจารณาดูแลค่าไฟฟ้า (FT) โดยหน่วยงานที่ดูแล ประชาชนอยู่ได้

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในไตรมาส 3 ซึ่งไตรภาคีแต่ละจังหวัดจะมีการหารือกัน โดยเห็นว่าการปรับค่าแรงจำเป็นจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้า การผลิต รวมไปถึงทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งหน้าของ กนง. เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ยังมองอยู่ในกรอบ 2.5-3.5%

สำหรับดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล หลังจากที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร โดยเดือนมิถุนายน 2565 ราคาขึ้นมา 3 บาทต่อลิตร ราคาสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง ความกังวลปัญหารัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต และทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น ศบค.ได้ผ่อนคลายมาตาการในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ สำหรับคนไทยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศ ส่วนชาวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass รวมทั้งผ่อนคลายให้เปิด สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถกลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) แต่ต้องเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข เริ่มวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวและภาคบริการต่างๆ ของไทย การฉีดวัคซีนทั่วโลกทำให้สถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง การส่งออกของไทยขยายตัว ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูง

Back to top button