ย้อนไทม์ไลน์ครึ่งปีแรก SET ร่วง 89 จุด! ผวาเงินเฟ้อพุ่ง-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยกด

วิตกเงินเฟ้อ-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย กด SET ครึ่งปีแรกร่วง 89.29 จุด โบรกคาดครึ่งปีหลังวิกฤตต่อ แนะดักเก็บ 8 หุ้นเด่น ได้แก่ BBL- CK- CPN- MAKRO- ORI- PR9- SAPPE- SHR- SISB- TFG


ช่วงครึ่งแรกปี 2565 ภาวะตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนเป็นอย่างมากมีหลายปัจจัยเข้ามากดดันทำให้ระหว่างช่วงดังกล่าวดัชนีค่อยๆ อ่อนตัวลงจากจุดสูงสุดที่ขึ้นไปแตะ 1,713.20 จุด (18 ก.พ. 65) จนลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,557.61 จุด (23 มิ.ย. 65) ขณะที่ทั้งครึ่งปีแรกดัชนีเคลื่อนไหวลดลง 89.29 จุด หรือ 5.38% จาก ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 1,568.33 จุด เทียบกับสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 64 อยู่ที่ 1,657.62 จุด

สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในช่วงขาลงเพราะยังมีแรงกดดันเริ่มช่วงต้นปีเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงบ้างจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน ยังทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการดำเนินการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง ส่วนการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อน สอดคล้องกับวงงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก. เงินกู้ที่คงเหลือหลังจากใช้ไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา

โดยต่อมาปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้น จนสถานการณ์ลากยาวจนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของเศรษกิจไทยจะไม่มาก เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียและยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% และ 0.07% ของมูลค่าการค้ารวม

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้นสู่ระดับสูงในรอบหลายปีที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและอาหารที่ปรับตัวขึ้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 7.10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี หากย้อนกลับไปดูตัวเลขเงินเฟ้อของไทยปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดโดยเดือน ม.ค. 65 เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.23% เดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ 5.28% เดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ 5.73% และเดือนเม.ย. 65 อยู่ที่ 4.65%

ทั้งนี้สอดคล้องของเศรษฐกิจโลก การบุกยูเครนของรัสเซียยังเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโลก กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป และการโจมตียูเครนของรัสเซียส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวน ความขัดแย้งกับสหรัฐและชาติพันมิตรทวีความรุนแรง ราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงสุดในรอบหลายปีนั้งตั้งแต่ปี 2557 ความตึงเครียดดังกล่าวกระทบราคาพลังงานเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติระดับ 2 ของโลกโดยส่งออกก๊าซไปยังยุโรปผ่านทางท่อส่งในยูเครน นอกจากนี้รัสเซียและยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าภัณฑ์ที่สำคัญ เช่นข้าวสาลี และข้าวโพด

โดยสถานการณ์การดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กดดันกำลังซื้อ ต้นทุนการผลิต และสร้างความยากลำบากในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

ขณะที่พร้อมกับราคาสินค้าในสหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 8.6% ขณะที่เดือนเม.ย. 65 อยู่ที่ 8.3% ,เดือนมี.ค.65 อยู่ที่ 8.5%, เดือนก.พ.65 อยู่ที่ 7.9% และเดือนม.ค. 65 อยู่ที่ 7.5%

ทั้งนี้ ราคาสินค้าและพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ขณะที่มีสิ่งที่ต้องจับจ่ายซื้อหาน้อยมากที่ไม่มีการปรับขึ้นราคา สภาพการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีปัญหาด้านการเงินในครัวเรือนตามมา เนื่องจากรายได้ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลสหรัฐตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในการหาทางรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยครั้งแรกมีการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 65 ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25-0.50% ต่อมาเฟดประชุมเมื่อวันที่ 3-4 พ.ค. 65 ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 0.75-1.00% และครั้งล่าสุดเฟดประชุมเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. 65 ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 1.50-1.15% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

โดยการที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ค. และ 0.50% ในเดือนก.ย. ก่อนที่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนพ.ย.และธ.ค.

อย่างไรก็ตามด้วยภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงหลักเกิดจากผลพวกแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐและไทยยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยังมีความกลังวลว่าเฟดยังเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากขึ้นไปแล้วสู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์ส่งผลให้เงินทุนยังคงไหลออกต่อเนื่อง เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา 10 ปี รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา 10 ปี และผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา 30 ปี ที่มีการปรับตัวขึ้นกว่า 3%

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น โดยอย่างครึ่งแรกปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีจำนวน 602 บริษัท พบว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมากถึง 393 บริษัท ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเพียง 180 บริษัท และราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง 9 บริษัท ส่วนมีบจ.ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหรือ NC จำนวน 19 บริษัท

ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) มีจำนวน 186 บริษัท พบว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมากถึง 126บริษัท ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเพียง 56 บริษัท และราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง 1 บริษัท ส่วนมีบจ.ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหรือ NC จำนวน 3 บริษัท

อย่างไรก็ตามในช่วงช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางแรงกดดันต่างๆที่เข้ามากระทบตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้นักลงทุนหลายๆคนต่างได้ผลลัพธ์ที่เป็นลบตามๆกันไป ซึ่ง ณ เวลานี้ก็ได้ก้าวสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กันแล้ว เชื่อว่านักลงทุนมองหากลยุทธ์ในการลงทุน

สะท้อนจากมุมมองของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ที่ได้ออกมาประเมินภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มีปัจจัยกดดันหลักจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสงครามที่ลากยาวซึ่งทำให้ราคาน้ำมันคาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูงราว 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในครึ่งหลังของปี 2565 อย่างต่อเนื่อง กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยล่าสุด World Bank ปรับลดคาดการณ์ GDP ลงเหลือ +2.9%จากปีก่อน ซึ่งปรับลงมากในฝั่งสหรัฐฯและยุโรปที่ถูกกระทบชัดที่สุด

ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องตึงตัวขึ้นเร็วทั้งการขึ้นดอกเบี้ยโดยเฉพาะ FED รวมถึงการลดขนาดงบดุลดูดสภาพคล่องออกเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ปัจจุบันสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% อยู่มาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตชะลอ เข้าข่ายภาวะ Stagflation และมีโอกาสลามไปถึงขั้นเกิด Recession ในระถัดไป หากเงินเฟ้อสูงยาวนานกว่าคาด ซึ่งกดดันบรรยากาศการลงทุนโดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับช่วงปี 1,970-1,980 ที่เกิด Stagflation และ Recession ฝ่ายวิจัยมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่รุนแรงเท่า แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวครึ่งหลังปี 2565 เป็นอย่างน้อย

“บรรยากาศการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงถูกกดดันจากประเด็นเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยหนึ่งในสาเหตุหลักคือสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 24 ก.พ.65 และยังคงลากยาวถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียโดยเฉพาะการแบนพลังงาน กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัว และเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรปที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง ล่าสุดประมาณการเศรษฐกิจของ World Bank เดือน มิ.ย. มีการปรับลด GDP โลกปี 2565 ลงจาก +4.1%เทียบปีก่อน มาเหลือเพียง +2.9% เทียบปีก่อน”

ดังนั้นปัจจัยบวกหลักจึงยังอยู่ที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตแข็งแรงกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว โดยได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการคุม COVID-19 ของศบค. รวมถึงแผนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในครึ่งหลังปี 2565 หนุนภาคการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งธปท.คาด GDP ปี 2565 ขยายตัว 3.3%จากปีก่อน และจะเร่งตัวขึ้นเป็น +4.2% ในปี 2566 ซึ่งไม่เข้าข่าย Stagflation เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่คาดโตชะลอตัว +2.6% และ +2.2% ในปี 2565-2566 ตามลำดับ

ส่วนประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนของ SET Index จาก Bloomberg Consensus ปัจจุบันคาดที่ราว 97 บาท แต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ามีโอกาสเห็นการปรับประมาณการลงในไตรมาส 3/2565 เล็กน้อยเหลือราว 94-95 บาท จากแรงกดดันด้านต้นทุนตามราคา Commodity ที่สูง ประกอบกับนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วทำให้ฝ่ายวิจัย Rerate Target PER ลงเหลือ 17.5 เท่าใกล้เคียงช่วงปี 2560-62 ที่ภาพรวมนโยบายการเงินใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ SET Target ปี 2565 ของฝ่ายวิจัยปรับลงจาก 1,770 จุดเหลือ 1,670 จุด

โดยกลยุทธ์การลงทุนประเมินระดับ 1520 จุด (บวกลบ) เป็นระดับที่เหมาะในการทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานโดยมี Upside ใกล้ 10% จากดัชนีเป้าหมาย โดยเน้นลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าบริการจำเป็นที่คาดถูกกระทบจำกัดและผันผวนต่ำจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงกลุ่ม Reopening Play ที่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

ทั้งนี้จึงเลือก หุ้นเด่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ได้แก่ BBL ราคาเป้าหมาย 134 บาท, CK ราคาเป้าหมาย 26 บาท, CPN ราคาเป้าหมาย 82 บาท, MAKRO ราคาเป้าหมาย 52 บาท, ORI ราคาเป้าหมาย 15 บาท, PR9 ราคาเป้าหมาย 16.50 บาท, SAPPE ราคาเป้าหมาย 38 บาท, SHR ราคาเป้าหมาย 5.20 บาท, SISB ราคาเป้าหมาย 15 บาท, TFG ราคาเป้าหมาย 6.30 บาท

X
Back to top button