GPSC ต้นทุนพลังงานพุ่ง ฉุดกำไร Q2 ลด 70%

GPSC ต้นทุนพลังงานพุ่ง-ปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมลด ฉุดกำไรไตรมาส 2/65 ลด 70% เหลือ 683.77 ลบ. จากปีก่อนกำไร 2.30 พันลบ. ส่วนงวด 6 เดือนแรกกำไร 996.98 ลบ. ลดลง 67% จากปีก่อนกำไร 4.28 พันลบ.


บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/65 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 ดังนี้

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/65 มีกำไรลดลง เนื่องจากจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ Margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย

โดยมีต้นทุนขายสินค้าและการให้บริการของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ในไตรมาสที่ 2/65 มีมูลค่า 6,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,242 ล้านบาท หรือร้อยละ 166 จากสาเหตุหลัก โดยค่าใช้จ่ายถ่านหิน เพิ่มขึ้น 2,096 ล้านบาท เนื่องจากราคาเฉลี่ยถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 209 ในขณะที่ปริมาณการใช้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เนื่องจากในไตรมาส 2/65 มีการหยุดซ่อมบำรุงลดลง

ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ เพิ่มขึ้น 2,839 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลของโรงไฟฟ้าศรีราชาและโรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี เป็นเชื้อเพลิงหลักแทนก๊าซธรรมชาติ ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ.

รวมทั้งต้นทุนขายสินค้าและการให้บริการของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)  มีมูลค่า 17,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,006 ล้านบาท หรือร้อยละ 69 จากสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 5,971 ล้านบาท (GPSC 2,879 ล้านบาท และ GLOW 3,092 ล้านบาท) จากราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 3 และค่าใช้จ่ายถ่านหินเพิ่มขึ้น 1,096 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาถ่านหินเฉลี่ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 134 และปริมาณ การใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 6

ขณะเดียวกันต้นทุนขายสินค้าและบริการของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอื่นๆ มีมูลค่า 204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98 ล้านบาท หรือร้อยละ 92 จากสาเหตุหลักต้นทุนขายสินค้าและบริการของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนงานสัญญาผู้รับเหมาออกแบบและก่อสร้าง (EPC) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ที่เพิ่มขึ้นตาม ปริมาณโครงการที่ เพิ่มขึ้น และต้นทุนอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ภายหลังการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564

รวมทั้งเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจำกเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ในไตรมาส 2/65 เท่ากับ 435 ล้านบาทลดลง 87 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากไตรมาส 2/65 บริษัทฯ เริ่มบันทึกค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนซึ่งเกิดจากการปันส่วนราคาซื้อ AEPL สำหรับรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 – มิถุนายน 2565 เป็นจำนวน 177 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น 116 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Back to top button