ก.พลังงาน เล็งชง “กพช.” พ.ย.นี้ ออกมาตรการบรรเทา “พลังงาน-ตรึงค่าไฟ”

กระทรวงพลังงาน เตรียมเดินหน้าเสนอ “กพช.” เดือนพ.ย.นี้ มอบของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทย เพื่อพิจารณาทั้งเรื่องของราคาก๊าซหุงต้ม พร้อมตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกปี 66 เดือนม.ค.-เม.ย.66 ไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายหัวข้อ “ถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานโลก สะเทือนถึงไทย” ในการเสวนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ “ฝ่าวิกฤติพลังงานโลก ทางรอดพลังงานไทย” ว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือน พ.ย. 65 ให้ของขวัญปีใหม่ประชาชน ด้วยการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน พร้อมตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกปี 66 (ม.ค.-เม.ย.)ไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

สำหรับกระทรวงพลังงาน เตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้คนไทย โดยจะเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) ในเดือน พ.ย. 2565 นี้ เพื่อพิจารณาทั้งเรื่องของราคาก๊าซหุงต้ม ( LPG) และค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของค่าไฟ ยังจะดูแลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย และ 500 หน่วยต่อไป รวมถึงจะมีมาตรการเสริมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมากจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานเข้าไปดูแลทั้งค่าไฟฟ้า,ราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร และปัจจุบันยังตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยราคา” นายกุลิศ กล่าว

โดยหลังจากนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการหลายด้านเพื่อดูแลราคาพลังงานในประเทศ โดยจะพยุงอัตราค่าไฟฟ้าระหว่างไตรมาส 4/65 ถึงไตรมาส 1/66 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยหากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG ) สูงเกิน 25 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้ดีเซล ประมาณ 200-300 ล้านลิตร

รวมถึงขยายระยะเวลาปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ(ถ่านหิน) โรงที่ 8 ที่ได้หมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.64 ให้ยืดอายุต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ในอัตราประมาณ 2-3 บาท/หน่วย และยังมีแผนให้นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงที่ 4 ที่ปลดระวางไปแล้ว กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้ม (EIA) คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้จะต้องเร่งการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศ ทั้งการเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณ และเพิ่มการผลิตก๊าซฯแหล่งอื่นๆ ตลอดจนการจัดซื้อก๊าซฯจากประเทศเมียนมาเพิ่มเติมทั้งแหล่งซอติก้า และยาดานา รวมถึงซื้อก๊าซฯ เพิ่มจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ จะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อลดการใช้น้ำมัน ซึ่งจากข้อมูลช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 ยอดซื้อรถ EV เพิ่ม 223% หรือ อยู่ที่ 13,298 คัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ก็อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนรถ EV ให้ประชาชนเข้าถึงรถ EVได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูแลเรื่องของการจัดทำระบบชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวก

ขณะเดียวกัน 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ก็ได้เร่งประสานงานจัดทำเรื่องข้อมูลเชื่อมโยงการใช้แอพลิเคชันรองรับการใช้งานรถ EV ที่หลากหลายยี่ห้อ ให้สามารถเชื่อมฐานข้อมูลทั้งระบบ และในช่วงกลางปี 2566 กฟผ.จะเริ่มจัดทำระบบชำระค่าบริการชาร์จไฟฟ้าของรถ EV ที่ชำระร่วมกันได้

พร้อมกันนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP  ฉบับใหม่ รวมกว่า 10,900 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถึง 6,000 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. 2,700 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ฟาร์ม 3,000 เมกะวัตต์ ,โซลาร์รูฟท็อป 300 เมกะวัตต์

และจะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยกำหนดไว้เพียง 500 เมกะวัตต์ ,ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ 800 เมกะวัตต์ ขยะอีก  600 เมกะวัตต์, แบ่งเป็นขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 2,000 เมกะวัตต์

ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย ทำเรื่องสมาร์ทกริด และสมาร์ทมิเตอร์ ให้พร้อมรองรับเรื่องของพลังงานหมุนเวียน และรถ EV ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1 ปี (6 ต.ค.65-5 ต.ค.66) นั้น ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( สกนช.) ได้จัดทำรายละเอียดการใช้เงิน และแผนชำระหนี้มาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือน พ.ย.65  และน่าจะได้รับเงินกู้ก้อนแรกในเดือน พ.ย.

โดยเบื้องต้นแผนเงินกู้จะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรก วงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี แต่ในส่วนของการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี

สำหรับราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2565 ถึง ไตรมาส 4/2565 คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95-98 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล แต่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ความต้องการใช้น้ำมันยังน่าจะสูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้ช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา โดยประเมินว่าช่วงไตรมาส 4/65 ราคาก๊าซ LNG จะขึ้นไปที่ราว 40-50 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ขณะที่ราคา spot LNG เดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู

ขณะที่ มอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ปี 66 ราคา LNG จะอยู่ 39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และไตรมาส 2/66 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ กลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) มองว่าปี 66 จะอยู่ประมาณ 39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู

สำหรับกระทรวงพลังงาน ประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในปี 66 อยู่ที่ระดับ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ก็ใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซล ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 35 บาทต่อลิตร ลดลงจากก่อนหน้าที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาทต่อลิตรช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือคนไทยทุกคนจะต้องตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และต้องเริ่มเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพราะค่าไฟฟ้าจะไม่ใช่ของถูกอีกต่อไป ดังนั้น กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ก็ต้องเริ่มการประหยัดตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้า และขยายสู่ระดับสาธารณะ แต่ที่สำคัญสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม และโรงงาน ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูงจะต้องมุ่งเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังด้วย

Back to top button