ลุ้นถ่ายทอดสด “บอลโลก2022” หลังเงินค่าลิขสิทธิ์ยังไม่ครบ “กสทช.” นัดลงนาม “กกท.” พรุ่งนี้

“กสทช.” เตรียมลงนามกับ “กกท.” ในวันพรุ่งนี้ ลุ้นถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ประเทศกาตาร์ หลังเงินค่าลิขสิทธิ์ยังไม่ครบ โดยได้อนุมัติเงิน 600 ล้านบาท จากจำนวน 1,600 ล้านบาท ทำให้ยังขาดอีก 1,000 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.65) เวลา 08:45 น.ที่สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีพีธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับ การการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2022 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค. 65 ณ ประเทศกาตาร์

โดยมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กับ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่า กกท. ผู้บริหารของสองหน่วยงานเป็นตัวแทนร่วมลงนาม

ซึ่งการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ เป็นไปตามมติของที่ประชุมบอร์ด กสทช. ที่มีเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ให้สนับสนุน งบประมาณจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 600 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด) เพื่อใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2022 ให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึง หรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ถือเป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) ที่ต้องมีการนำเผยแพร่ผ่านฟรีทีวี

สำหรับความคืบหน้าการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค.65 หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท จาก จำนวน 1,600 ล้านบาท ที่กกท.เสนอขอรับการสนับสนุนเข้าไป ทำให้ถูกท.ต้องหาภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีก 1,000 ล้านบาทนั้น

โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท. กล่าวว่า การเจรจากับตัวแทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ยังคงดำเนินต่อไปตามขั้นตอนหลังจากเราส่งหนังสือแจ้งไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 ที่ผ่านมาว่าเรามีงบประมาณที่มีจำกัดแบบนี้ ขอให้เขาพิจารณาทบทวนลดราคาลง ถึงขณะนี้ก็ยังคงรอการตอบกลับของฟีฟ่าว่าจะไปในทิศทางใด คงต้องใช้เวลาสักระยะ เพื่อให้ทางฟีฟ่าได้หารือกันอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าฟีฟ่าจะตอบมาแบบใด เราก็ต้องมีแผนสองรับมือแน่นอน

“เรื่องของตัวเงินและแพ็กเกจที่ส่งให้ฟีฟ่าพิจารณานั้น ตอนนี้ยังเปิดเผยมากไม่ ได้ว่าเงื่อนไขอะไรบ้าง เนื่องจากกลัวว่า จะไปกระทบต่อการพิจารณาของฟีฟ่า ต้องรอความชัดเจนจากทางฟีฟ่าก่อน ทั้งนี้เรา ยื่นข้อเสนอไปหลายแบบ หลายตัวเลือกเพื่อให้ทางฟีฟ่าพิจารณา โดยเรามองถึงผลประโยชน์ของประเทศมาเป็นอันดับแรกแน่นอน” ดร.ก้องศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีข่าวว่า ได้ภาคเอกชน 5 รายเข้ามาสนับสนุนรายละ 200 ล้านบาท ครบ 1,000 ล้านบาทแล้วนั้น ดร.ก้องศักดกล่าวว่า ไม่เป็นความจริงตอนนี้ยืนยันได้ว่าเรายังไม่มีภาคเอกชนเข้ามา สนับสนุนเงินขนาดนั้น แต่ขั้นตอนต่างๆ กำลังดำเนินไป รวมถึงขั้นตอนของการเร่งดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ดร.ก้องศักดยังกล่าวถึงการที่กสทช. มีแผนจะปรับเอาฟุตบอลโลกออกจากกฎ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์แคร์” ว่า ต้องยอมรับว่าครั้งนี้เราเห็นปัญหาและอุปสรรคและก็ต้องยอมรับความจริงว่า คราวนี้การที่เอกชนอาจจะเจรจาไม่สัมฤทธิผล ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกฎมัสต์แฮฟ จริงๆ แล้วการออกกฎมัสต์แฮฟมาในตอนแรก ต้องยอมรับว่ามีขึ้นเพราะจุดประสงค์ที่ดีที่ต้องการให้คนไทยได้ชมฟรีทั้งประเทศในมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ รวมถึงฟุตบอลโลกด้วย อย่างไรก็ตาม พอเกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นมา ตนก็หวังว่ากสทช.คงพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามสถานการณ์โลกและสังคมในเวลานี้ ซึ่งตรงนี้กกท.ไม่ขอเข้าไปก้าวล่วง และเราก็เล็งเห็นว่ามหกรรมกีฬาอย่างนี้ ควรเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดทางฟรีทีวีด้วย แต่จะเป็นวิธีการแบบไหน อยากให้กสทช. ลองปรับเปลี่ยนและพิจารณาดูอีกครั้ง

ส่วนงบประมาณจากภาคเอกชนที่เปิดเจรจาขอรับการสนับสนุนไปนั้น ตอนนี้มีตอบรับแบบปากเปล่ามาแล้ว 3 บริษัทเอกชน ประกอบด้วย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะให้เงินราว 400 ล้านบาท หรืออาจดันตัวเลขไปได้ถึง 500 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณที่ได้รับจากกสทช.จะมีเงินอยู่ในมือในการเจรจากับทางฟีฟ่าประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันยังรอคำตอบอีก 2 บริษัท คือบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.)

ด้านบริษัท อินฟรอนต์ฯ บริษัทตัวแทนของฟีฟ่าในการเจรจาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ยืนยันตัวเลขขอลดราคารอบสองไว้ ที่ราคา 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งยังขาดอยู่อีกราว 100 ล้านบาท ไม่รวมค่าภาษี หรือค่าบริหารจัดการอื่นๆ เวลานี้มีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.ยอมจ่ายลิขสิทธิ์เต็มจำนวน 1,600 ล้านบาท กรณีที่เอเยนต์ฟีฟ่า ไม่ยอมลด ราคา และ 2. ประเทศไทยไม่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ย. “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนี้ กกท. ก็ยังรอคำตอบจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ผ่านทางเอเย่นต์ที่ประสานงานกันมาอยู่ ซึ่ง กกท.ได้ส่งอีเมลขอลดราคาไปอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.65 ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าราคาที่ฟีฟ่าเสนอมายังแพงเกินไป แต่ล่าสุดถึงวันที่ 13 พ.ย.65 ผ่านไปแล้ว 3 วัน ทางเอเย่นต์ฟีฟ่าก็ยังไม่ได้มีการตอบรับกลับมาแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากยังไม่มีการตอบรับกลับมา วันที่ 14 พ.ย.65 ก็จะทำหนังสือส่งเข้าไปอีกรอบ เพราะเวลากระชั้นเข้ามามากแล้ว

ด้าน ดร.ก้องศักด กล่าวต่อว่า ส่วนข่าวจะมีการใช้เงินจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 600 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ในเรื่องนี้จำเป็นต้องชะลอเอาไว้ก่อน ต้องหารือกันภายในบอร์ดกองทุนฯ และรอดูท่าทีของฟีฟ่าอีกครั้งด้วย ว่าจะขายค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่

ขณะเดียวกัน นอกจากเอกชน 5 รายที่ กกท. ได้ประสานงานเพื่อให้ช่วยสนับสนุนถ่ายทอดสดแล้ว ตอนนี้ กกท. ก็ยังเดินหน้าหาสปอนเซอร์เพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่แค่เพียงค่าลิขสิทธิ์ ที่ต้องจ่าย หากได้ถ่ายทอด ยังมีค่าภาษี การตั้งศูนย์ถ่ายทอดสด ค่ารับสัญญาณดาวเทียม ค่าเช่าเวลาสถานี เพิ่มมาอีกด้วย

โดยรายงานข่าวยังแจ้งเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอว่า จะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมวันอังคารที่ 15 พ.ย.65 เพื่อขอยืมเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย มาสมทบในการไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ก่อน แล้วนำเงินจากภาคเอกชน ที่หามาได้หลังจากนี้มาคืนให้กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น เป็นเพียงแนวคิดก่อนหน้านี้ ซึ่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (บอร์ดกองทุน) ไม่เห็นด้วย ดังนั้นในการประชุม ครม. วันที่ 15 พ.ย.65 จะไม่มีการนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม.

ส่วนความคืบหน้า ณ วันที่ 13 พ.ย.65 ยังไม่มีความชัดเจน เพราะฟีฟ่า ยังไม่ตอบกลับมาว่า จะยอมลดราคาให้กับประเทศไทย ได้เท่าไหร่ ต้องรอจนถึงวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.65 เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ แล้วสิ่งที่กังวลคือ ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. เป็นวันหยุดในโอกาสไทย เป็นเจ้าภาพประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอีก จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เวลานี้คนที่หนักใจที่สุด คือ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ที่เร่งเคลียร์เรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้จบด้วยดีและเร็วที่สุด

โดยวันที่ 14 พ.ย. สำนักอัยการสูงสุด เรียกฝ่ายกฎหมายของ กกท. ไปพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายทุกประเด็น ขณะเดียวกัน ดร.ก้องศักด ยอดมณี จะต้องไปเซ็นเอ็มโอยู กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในงบประมาณที่ได้รับอนุมัติช่วยมาส่วนหนึ่ง 600 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุอีกว่า เวลานี้มีเงิน 600 ล้านบาทจาก กสทช. และ 400 ล้านบาท จาก 3 บริษัทเอกชน สนับสนุนเพิ่มเติมให้ ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วนอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) นั้น ทาง กกท. ส่งหนังสือขอรับการสนับสนุนเข้าไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 ที่ผ่านมา และติดวันเสาร์-อาทิตย์ จึงยังไม่มีการตอบกลับมา

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรามีเงินอยู่ 1,000 ล้านบาท ท่าทีฟีฟ่าล่าสุด คือ ไม่ยอมลดราคาให้เหลือ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบอกว่าถ้าเราจะซื้อในราคาที่ถูกกว่า 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราต้องซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เวลานี้ฟีฟ่า ยืนกรานว่าไม่ยอมขายแพ็กเกจย่อยคือ ซื้อตั้งแต่รอบ 2 หรือรอบ 16 ทีมสุดท้าย ให้เรา บังคับให้เราซื้อฟูลแพ็กเกจ 64 แมตช์ เท่านั้น แต่เราได้ยื่นขอลดราคาเข้าไป ซึ่ง ฟีฟ่า ยังนิ่ง ไม่มีการตอบอีเมลกลับมาแต่อย่างใด คงต้องรอวันจันทร์นี้ต่อไป

สำหรับกระบวนการขั้นตอนที่ฟีฟ่า ขีดเส้นตายไว้คือ ภายในวันที่ 18 พ.ย.65 ต้องปิดดีลกับฟีฟ่าให้สำเร็จว่า จะซื้อในราคาเท่าไหร่ แพ็กเกจไหน คนไทยจะได้ดูฟูล 64 แมตช์ หรือตั้งแต่รอบที่ 2 หรือ รอบ 16 ทีมสุดท้าย ในเวลานี้ยังไม่สามารถยืนยันได้แบบ 100 % จากนั้นในวันที่ 19 พ.ย.65 ก่อนเตะนัดแรกฟุตบอลโลก 2022 เราจะต้องโอนเงินทั้งหมดไปให้ฟีฟ่า พร้อมภาษี 15%

ทั้งนี้มี 2 ทางเลือก ในเวลานี้คือ 1.ยอมซื้อในราคา 1,600 ล้านบาท ซึ่งเราก็จะโดนด่าว่าซื้อแพง กับข้อ 2.ไม่ซื้อเลย เราก็จะไม่ต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปซื้อ ซึ่งเราก็จะโดนด่าเช่นกันว่าทำไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้ ณ วันที่ 13 พ.ย.65 ยืนยันได้ว่าโอกาสที่คนไทยจะได้ดูการถ่ายทอสดฟุตบอลโลก 2022 มีมากกว่า 50% อยากให้รอความชัดเจนกันอีกหน่อย

Back to top button