IMF ชี้การแบ่งขั้วเศรษฐกิจ หวั่นกระทบตัวเลข GDP โลกรุนแรง 7%

IMF เตือนการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงทั่วโลก หลังจากโลกเคยขับเคลื่อนด้วยระบบโลกาภิวัตน์ตลอดช่วงหลายทศวรรษ อาจบั่นทอนตัวเลข GDP โลกรุนแรงถึง 7% โดยอาจบั่นทอน 8-12% ในบางประเทศ หากมีการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีร่วมด้วย


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงานที่มีการเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (15 ม.ค.66) ว่า การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงทั่วโลก หลังจากที่โลกเคยขับเคลื่อนด้วยระบบโลกาภิวัตน์ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น อาจบั่นทอนตัวเลข GDP โลกสูงถึง 7% โดยอาจบั่นทอน 8-12% ในบางประเทศ หากมีการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีร่วมด้วย

ทั้งนี้ IMF ระบุว่า แม้กรณีที่เศรษฐกิจโลกแบ่งขั้วกันในวงจำกัดก็ยังอาจลด GDP โลกได้ 0.2% แต่ยังจำเป็นต้องประเมินผลกระทบที่มีต่อเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับโลก (GFSN) ด้วยรายงานระบุว่า การหมุนเวียนของสินค้าและเงินทุนทั่วโลกลดน้อยลง หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2551-2552 และการออกมาตรการจำกัดทางการค้าก็เพิ่มสูงขึ้นในปีต่อๆ มา

“โรคโควิด-19 ระบาดและกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้นและเพิ่มข้อกังขาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์” IMF ระบุในรายงาน

สำหรับ IMF ระบุว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นส่งผลให้ปัญหาความยากจนทั่วโลกลดลงอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ยังประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภครายได้น้อยในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วผ่านสินค้าราคาย่อมเยา ดังนั้น การยกเลิกการเชื่อมโยงทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อประเทศรายได้น้อยและผู้บริโภครายได้ต่ำในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมากที่สุด”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก IMF ว่า การออกมาตรการจำกัดการอพยพข้ามพรมแดนจะทำให้ประเทศจุดหมายปลายทางสูญเสียแรงงานมีฝีมือ และลดจำนวนเงินที่ผู้อพยพส่งกลับประเทศบ้านเกิด การหมุนเวียนเงินทุนที่ลดน้อยลงจะลดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดน้อยลงจะสร้างความเสี่ยงต่อจัดหาสินค้าให้กับสาธารณชนทั่วโลก

Back to top button