ท่องเที่ยวคึกคัก “ต่างชาติ” เข้าไทย 9.4 ล้านคน รายได้สะพัด 4 แสนลบ.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เผยถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 9.4 ล้านคน ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 พ.ค.66 สร้างรายได้สะพัด 3.91 แสนล้าน ลุ้นปี 66 น่าจะเดินทางมาไทยได้ 5.3 ล้านคน หรือหากมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ก็อาจจะถึง 7 ล้านคน


นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 พ.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทุกช่องทางรวมแล้ว 9.47 ล้านคน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแล้ว 3.91 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักยังคงมาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเอเชียใต้ และอาเซียน

โดยรัฐบาลได้สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับปรุงการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคท่องเที่ยว รักษาแรงส่งการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าปี 66 น่าจะเดินทางมาไทยได้ 5.3 ล้านคน หรือหากมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ก็อาจจะถึง 7 ล้านคน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ข้อมูลของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)  ระบุว่า 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 66 (ต.ค.65-เม.ย.66) มีเที่ยวบินจากจีนเข้ามาไทยแล้ว 12,805 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากที่จีนมีนโยบายให้บริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประทศได้ตั้งแต่ 6 ก.พ. 66 เป็นต้นมา

ส่วนในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ บวท. คาดว่าเที่ยวบินจากประเทศจีนจะยังเพิ่มขึ้นอีก โดยคาดว่าเดือนพ.ค. จะมีเที่ยวบินจีน 5,330 เที่ยวบิน, มิ.ย. 6,090 เที่ยวบิน, ก.ค. 7,150 เที่ยวบิน, ส.ค. 7,460 เที่ยวบิน และก.ย.  7,340 เที่ยวบิน ส่งผลให้ตลอดปีงบประมาณ 66 (ต.ค.65-ก.ย. 66) มีเที่ยวบินจากจีนมายังประเทศไทย 46,175 เที่ยวบิน

อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณเที่ยวจีนที่คาดการณ์ไว้นี้ยังคงน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด19 อยู่ร้อยละ 66 แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องก็ได้เตรียมการเพื่อรองรับ เพื่อให้ไม่เกิดความติดขัดต่อเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งส่วนของการพิจารณาจัดสรรตารางการบินให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน การบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ มีความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของจีน เป็นต้น

ด้าน กระทรวงคมนาคม ก็ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้ให้บริการภาคพื้นชั่วคราว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการภาคพื้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่กำลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิให้ประกอบการให้บริการภาคพื้นในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รายที่ 3 ให้เป็นไปตามแผนงาน จากปัจจุบันที่มีผู้ให้บริการภาคพื้นอยู่ 2 ราย เพื่อลดปัญหาการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้าต่อไป

Back to top button