ส่อง 4 หุ้นสายอุตฯ โชว์กำไร 6 เดือนทะลัก “แบ็กล็อก” แน่น รับรู้รายได้ยาว

ส่องผลงาน 4 บริษัทจดทะเบียนตลาด mai กลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและอุตสาหกรรม พบส่วนใหญ่รายได้-กำไรครึ่งแรกปี 66 เติบโตโดดเด่น บางบริษัททำนิวไฮ แถมมีงานในมือรอรับรู้รายได้เพียบถึงปีหน้า สะท้อนภาคเอกชนเดินเครื่องภาคการผลิต-ลงทุนต่อเนื่อง


บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและอุตสาหกรรม ที่รายงานผลประกอบการงวดครึ่งแรกปี 66 ออกมาเติบโต ได้แก่ SE, CPT, UBA และ HARN อีกทั้งยังมีงานในมือ (backlog) รอรับรู้รายได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีอีกเป็นจำนวนมาก

สำหรับ บริษัท สยามอีสต์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE ผู้จัดหาและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ระบบปั๊ม ระบบท่อ วัสดุนวัตกรรม อุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ ธุรกิจงานบริการ และสาธารณูปโภคและพลังงาน พร้อมให้บริการโซลูชั่นครบวงจร ประกาศงบการเงินครึ่งแรกปี 66 รายได้รวมทำสถิติใหม่ (New High) 292.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.13% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และสูงสุดหากนับเฉพาะครึ่งปีแรก โดยมีกำไรสุทธิ 26.91 ล้านบาท

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการส่งมอบสินค้ากลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์การจัดการกระบวนการผลิตและระบบท่อ, กลุ่มผลิตภัณฑ์พลังงาน/สาธารณูปโภค และบริการติดตั้งดูแลระบบเพิ่มขึ้น ให้แก่โรงงานผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ (Commodity Products) เป็นผลมาจากลูกค้ามีการเพิ่มกำลังการผลิต จึงมีความจำเป็นในการใช้สินค้าบริการของบริษัท อีกทั้งรับรู้รายได้จากการจำหน่ายและติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่เริ่มทำการตลาดในปีนี้

ขณะเดียวกันสามารถรับรู้ผลกำไรจาก บริษัท เคสเซล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 14.02 ล้านบาท และ บริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ UBA ซึ่งบริษัทถือหุ้น 28.67% อีกจำนวน 9.32 ล้านบาท

ด้าน นายเกริก ลีเกษม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SE คาดว่า ทิศทางธุรกิจไตรมาส 3/66 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ทำสถิติสูงสุดที่ประมาณ 250  ล้านบาท และมีโอกาสรับงานใหม่เพิ่มเนื่องจากธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ส่งผลให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้บริษัทมุ่งเน้นการจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มลูกค้า อีกทั้ง เดินหน้าประมูลงานภาครัฐ-เอกชนอย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจบริการ SE solar solutions จัดจำหน่ายและติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop Energy) อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจอีกหลายราย คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายจำหน่ายและติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาโรงงานให้ได้กำลังการผลิตไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ในปีนี้

ขณะที่ บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT ผู้ผลิตและจำหน่ายตู้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้บริการติดตั้งตู้ไฟฟ้า และก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย (115KV) เปิดเผยงบการเงินครึ่งแรกปี 66 มีรายได้ 648.10 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 41.63 ล้านบาท เติบโต 726% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 5.04 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีลูกค้ารายใหม่เพิ่ม, สามารถส่งมอบงาน และรับรู้รายได้จากงานขายได้มากขึ้น รวมถึงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง และวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีกำไรจากการขายอาคารคลังสินค้าเพิ่มเติมด้วย

นายชัยยศ ปิยะวรรณรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPT ประเมินว่า ทิศทางธุรกิจไตรมาส 3/66 จะเติบโตต่อเนื่อง หลังมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นขยายตัวในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดจากคุณภาพและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ EEC อาทิ อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า พลังงานทางเลือก ฯลฯ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองครอบคลุมความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือประมาณ 1,000 ล้านบาท สามารถทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 67 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการประมูลงานเพิ่มเติมทั้งภาครัฐและเอกชน มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้

ส่วน บริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ UBA บริการให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ซึ่งมี SE ถือหุ้น 28.67% เปิดเผยงบการเงินครึ่งแรกปี 66 มีรายได้ 263.84 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 32.52 ล้านบาท เติบโต 5.48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเกิดจากการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้อัตรากำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากได้เงินระดมทุนไอพีโอ นำไปชำระหนี้จนระดับหนี้สินต่อทุน (D/E) เหลือเพียง 0.18 เท่า จากก่อนหน้านี้มากกว่า 1 เท่า

นางนภัสวรรณ วัฒนศิริชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี UBA ระบุว่า ณ ช่วงเดือน มิ.ย.บริษัทมีงานในมือประมาณ 1.2 พันล้านบาท รับรู้ปีนี้ราว 40-50% ส่วนที่เหลือจะรับรู้ในปีต่อไป ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างติดตามงานประมูลใหม่ ซึ่งจะออกมาในช่วงที่เหลือของปีนี้ประมาณ 1 พันล้านบาท โดยพร้อมเข้าประมูลทุกงาน เพราะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเงินทุนสำหรับรองรับโปรเจ็กต์ และจะพยายามหางานเข้าพอร์ตให้มากที่สุด

สำหรับเป้าหมายรายได้ปีนี้ยังคงไว้ที่เติบโต 10-15% ซึ่งจะมาจากการรับรู้รายได้แบ็คล็อกที่มีและงานใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม

ขณะที่ บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HARN บริษัทประกอบธุรกิจนำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในระบบดับเพลิง ระบบปรับอากาศและสุขาภิบาล ระบบทำความเย็น ระบบการพิมพ์ดิจิทัล ให้บริการพัฒนาระบบ IoT Products and Solutions รวมทั้งให้คำปรึกษาและออกแบบระบบในโครงการต่างๆ และการให้บริการโซลูชั่นด้านวิศวกรรมครบวงจร ประกาศงบครึ่งแรกปี 66 มีรายได้ 648.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากการรับรู้รายได้งานในมือที่มีเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยธุรกิจดับเพลิงและงานโครงการที่ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายวิรัฐ สุขชัย ประธานกรรมการบริหาร HARN เผยปัจจุบันมีงานในมือ 470-480 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ในงบครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตทุกไตรมาส

ขณะเดียวกันบริษัทจะยื่นประมูลงานใหม่ ทั้งติดตั้งและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงอีกหลายโครงการ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ารวมราว 1 พันล้านบาท และยังมีงานขนาดเล็กที่จะทยอยเข้ามาช่วงที่เหลือของปี และส่งมอบอีกหลายโครงการ

ทั้งนี้บริษัทคงเป้ารายได้เติบโต 15% มุ่งเน้นการขายสินค้าเทคโนโลยี หรือสินค้าใหม่ เพราะปัจจุบันแรงงาน และการหาบุคลากรค่อนข้างยาก ส่งผลให้หลายบริษัทหันมาสนใจเทคโนโลยีการผลิตสินค้า และตัวช่วยให้การผลิตมากขึ้น

Back to top button