“ศรัทธา” ร้องอัยการคดีพิเศษ อ้าง DSI ละเว้นสอบ “วนรัชต์”  ฟาก “ยุทธนา” ลั่นหลักฐานครบ

“ศรัทธา” ส่งหนังสือร้องอัยการคดีพิเศษ ระบุดีเอสไอละเว้นสอบสวนเชิงลึก “วนรัชต์” ผู้มีอำนาจตัวจริงใน STARK ทั้งเส้นทางการเงิน-การได้ประโยชน์จากการขายหุ้นกว่าหมื่นล้าน หวั่นสำนวนคดีไม่สมบูรณ์ พนักงานอัยการอาจมีคำสั่งไม่ฟ้องได้ ฟาก “พ.ต.ท.ยุทธนา” ยืนยันดีเอสไอสอบสวนและส่งหลักฐานให้อัยการหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอัยการจะสั่งสอบเพิ่มเติมหรือไม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ส่งถึงอธิบดีอัยการพิเศษ ฉบับลงวันที่ 9 ม.ค. 2567 แนบด้วยหนังสือเรื่องขอชี้แจงปฏิเสธข้อกล่าวหา (ฉบับลงวันที่ 23 พ.ย. 2566) พร้อมสำเนาส่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อัยการสูงสุด และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

โดยนายศรัทธา ระบุว่า ตัวเองเป็นลูกจ้าง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และเป็นกรรมการบริษัทย่อยต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบการเงินและบัญชี STARK บริษัทย่อยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง STARK มีนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และบริษัทย่อย ที่ถือหุ้นโดย STARK

นายวนรัชต์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่บริษัทที่เกี่ยวข้องมากกว่า 30 บริษัท ทำให้การบริหารจัดการ STARK และบริษัทย่อยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง นายวนรัชต์ จึงมีอำนาจสั่งการให้นายชนินทร์ เย็นสุดใจ บริหารจัดการบริษัทเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของตน ทั้งมีนายชินวัฒน์ อัศวโภคี เป็นกรรมการ STARK และเป็นที่ปรึกษากฎหมาย

นายศรัทธา ระบุว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนคดีนี้บิดเบือนข้อเท็จจริงว่า ตนเป็นผู้มีอำนาจสั่งการหน่วย งานต่าง ๆ ทุกแผนกของ STARK และบริษัทย่อย บริษัทที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ขอให้พนักงานสอบ ประเด็น 1) หน้าที่ความรับผิดชอบของตน 2) อำนาจการครอบงำกิจการของนายวนรัชต์ต่อ STARK, บริษัทย่อยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง 3) ความสัมพันธ์ระหว่างนายวนรัชต์ กับกรรมการ STARK คือ “นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต-นายวิทูรย์ สุริยารังสรรค์-นายอรรถพล วัชระไพโรจน์” ทั้ง 3 คนทำงานให้กับบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA ที่บิดาและครอบครัวนายวนรัชต์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นายศรัทธา ระบุอีกว่า ขอให้พนักงานสอบสวน ตรวจสอบประเด็นคุณสมบัติผู้ซื้อหุ้นกู้ ซึ่งเป็นสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ จึงไม่ใช่การขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป จึงไม่มีการทำผิดฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งตรวจสอบเส้นทางเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุน STARK

โดยมีเงินที่โอนเข้าบัญชีของตน บางรายการเป็นเงินที่นายวนรัชต์ โอนมาเพื่อให้นำเงินไปใช้บริหารจัดการกิจการกลุ่ม STARK ที่ตนเอง ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการร่วมกับ น.ส.ยศบวร อำมฤต ประมาณกว่า 20 บริษัท รวมรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อประโยชน์ของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ

นายศรัทธา ระบุว่า การกระทำความผิดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กล่าวโทษ เกิดจาก ก.ล.ต.มีเจตนาไม่สุจริต ให้ข้อเท็จจริงที่บิดเบือนต่อพนักงานสอบสวนว่าตนมีอำนาจสั่งการในกลุ่ม STARK ขัดกับโครงสร้างบริหารจัดการกลุ่ม STARK ที่มีนายประกรณ์ เมฆจำเริญ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของกลุ่ม ถือเป็นการกล่าวโทษ ที่เอื้อประโยชน์ต่อนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รวมถึงผู้บริหารที่แท้จริงของกลุ่ม STARK ทั้งที่จริงตนเองเป็นพนักงาน STARK ไม่ได้ถือหุ้น STARK แต่อย่างใด

ความจริงนายวนรัชต์ เป็นผู้ครอบงำกิจการที่แท้จริงของสตาร์คและบริษัทที่เกี่ยวข้องกันไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม คือ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่สามารถครอบงำสั่งการผ่านคณะกรรมการ STARK บริษัทย่อยและบริษัทที่เกี่ยวข้องได้ การนี้อาจทำให้การสอบสวนคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายวนรัชต์ อาจได้รับการพิจารณาถูกสั่งไม่ฟ้องโดยพนักงานอัยการได้ ทั้ง ๆ ที่นายวนรัชต์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ STARK บริษัทย่อยและบริษัทที่เกี่ยวข้องกว่า 30 บริษัท และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น คือผู้ถือหุ้นบริษัทมีงบการเงินแสดงผลประกอบการที่ดีย่อมทำให้หุ้นบริษัทนั้น มีราคาปรับสูงขึ้น STARK มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ นายวนรัชต์ จึงได้รับประโยชน์จากการขายหุ้น Big lot หลายครั้ง ทำกำไรรวมกันแล้วมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท และนำกำไรดังกล่าวแบ่งปันระหว่างคณะทำงาน ได้แก่ นายชนินทร์ ที่เป็นประธานคณะกรรมการบริษัทและนายชินวัตร ที่เป็นกรรมการและที่ปรึกษากฎหมาย STARK บริษัทย่อยและบริษัทที่เกี่ยวข้อง การนี้สามารถตรวจสอบจากเส้นทางการเงินของบุคคลทั้ง 3 ได้

ประเด็นการขายหุ้นทำกำไรของนายวนรัชต์ สามารถสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับแต่ที่มีการ Backdoor Listing ของ STARK เป็นต้นมา แล้วต่อมานายวนรัชต์ ได้ขายหุ้นให้นักลงทุนรายใหญ่ ที่มีนายชนินทร์ และนายชินวัฒน์ ร่วมกันจัดการจนทำให้เกิดการขายหุ้น STARK ที่มีชื่อของนายวนรัชต์ เป็นเจ้าของหุ้นลักษณะ Big lot เกิดขึ้นแล้วมีเงินเข้าบัญชีธนาคารนายวนรัชต์ จำนวนมาก

นอกจากนี้ขอให้ท่านสอบข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้น STARK ที่ถือโดยนายวนรัชต์ ให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีนายชนินทร์ และนายชินวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการ จะทำให้พบกระบวนการสร้างราคาหุ้น STARK ให้สูง ขึ้นเพื่อเสนอขายนักลงทุนรายใหญ่ อันเป็นการสร้างกำไรให้แก่นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ

ด้วยการสอบสวนคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ทราบถึงเส้นทางการเงินในบัญชีธนาคารของนายวนรัชต์ ที่ได้รับประ โยชน์จากการขายหุ้นทำกำไรที่มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับนายชนินทร์ และนายชินวัฒน์ แต่กลับเพิกเฉย ไม่ยอมสอบสวนเอาผิดต่อผู้กระทำความผิดตามฐานความผิดที่ถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ยกประเด็นเส้นทางการเงินของนายวนรัชต์, นายชนินทร์ และนายชินวัฒน์ มาวินิจฉัย

การพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการช่วยเหลือนายวนรัชต์ เพื่อให้สำนวนการสอบสวนที่เสนอต่อพนักงานอัยการ อาจทำให้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวนรัชต์ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนเพื่อมุ่งหมายให้ตนต้องรับผิดโดยไม่เป็นตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง หากมีการสอบสวนด้วยความเป็นธรรมย่อมจะทำให้ผู้กระทำผิดตัวจริงต้องรับโทษและทำให้รัฐสามารถนำเงินกลับคืนจากนายวนรัชต์ มาชดใช้เยียวยาผู้เสียหายได้ จึงใคร่ขอความกรุณาท่านโปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วย

DSI ลั่นหลักฐานครบถ้วน

พ.ต.ท.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่ากรณีที่อัยการจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย คดีหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอัยการสั่งฟ้องศาลได้ภายในวันที่ 12 ม.ค.นี้ หรือไม่ เพราะขณะนี้เรื่องอยู่ที่อัยการหมดแล้ว

“เราส่งหลักฐานให้อัยการไปหมดแล้ว ส่วนจะฟ้องเมื่อไหร่เป็นหน้าที่ของอัยการ”

พ.ต.ท.ยุทธนา กล่าวอีกว่า กรณีหนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ คือ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) ของ STARK ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีอัยการคดีพิเศษ ระบุว่า ดีเอสไอไม่ได้สอบในเชิงลึกเกี่ยวข้องกับหุ้น STARK รวมทั้งเส้นทางการเงินที่โยงไปถึงนายวนรัชต์ ตามที่นายศรัทธาให้ข้อมูลดีเอสไอไปก่อนหน้านี้นั้น ยืนยันว่าทางดีเอสไอได้สอบสวนและส่งหลักฐานไปให้กับอัยการทั้งหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอัยการจะสั่งสอบเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าไม่มีข้อสงสัยก็ถือว่าหลักฐานเพียงพอแล้วที่จะส่งฟ้องศาลต่อไป

Back to top button