AMA ปรับกลยุทธ์ปี 67 มุ่งเป้าโกยรายได้ “รถบรรทุก” หลังทะลุ 500 คัน

AMA กางแผนปี 67 ตั้งเป้ากวาดรายได้จากธุรกิจรถบรรทุกน้ำมันของบริษัทรวมกับทีเอสเอสเคโลจิสติกส์ รวมกว่า 500 คัน ขณะที่กองเรือยังเติบโตต่อเนื่อง


นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานและธุรกิจของบริษัทฯในปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่องใกล้เคียงปีที่ผ่านมาหลังจากมีการปรับกลยุทธิเดินหน้าขยายรถบรรทุกขนส่งน้ำมันซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 304 คัน และหากรวมกับบริษัท ทีเอสเอสเคโลจิสติกส์ จำกัด หรือ TSSK ที่บริษัทเพิ่งเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 76% มีรถบรรทุกอยู่ประมาณ 200 คัน ทำให้ล่าสุด AMA มีรถบรรทุกรวมกว่า 500 คัน

ขณะเดียวกันทางบริษัทฯตั้งเป้าว่าการให้บริการขนส่งทางรถจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากแนวโน้มที่คาดว่า บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้บริการการขนส่งผ่านรถขนส่งน้ำมันของ AMA ที่มีการขนส่งอยู่มากถึงสัดส่วน 91% นั้น ว่ามีการต้องการเพิ่มรถขนส่งในครึ่งปีหลังอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจะส่งผลบวกต่อบริษัท และคาดการณ์ว่าจะทำให้อัตราการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ฟากฝั่งกองเรือของบริษัทฯ ปัจจุบันมีจำนวน 9 ลำ หลังจากในปีที่ผ่านมาได้ซื้อเรือเข้ามาเพิ่ม และขณะเดียวกันก็ได้ขายเรือลำเล็กออกไป ดังนั้นในปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะขาย และซื้อเรือเข้ามา ตามนโยบายการใช้เรือของบริษัทที่จะใช้เรือจนถึงอายุการใช้งาน 30 ปี และจะซื้อเรืออายุประมาณ 15 ปีเข้ามาเพิ่มเพื่อใช้งานอีก 15 ปี แล้วจึงขายออกไป ซึ่งในปีนี้มีเรือที่อายุการใช้งานตามเกณฑ์ จึงจำเป็นต้องขายออกไป และมีแผนที่จะซื้อเรือลำที่ใหญ่กว่า อายุน้อยกว่าเข้ามาเพิ่ม ส่งผลให้ความสามารถในการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การเดินเรือของบริษัทฯ ณ ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนเป็นจีนสัดส่วน 50%, อินเดียและบังคลาเทศสัดส่วน 30% และในประเทศอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาอีกสัดส่วน 20% ส่วนบริษัทมีการรับสินค้ามาจากอินโดนีเซียเป็นหลักที่ 70% และมาเลเซีย 30% ซึ่งการขนส่งสินค้าทางเรือของบริษัทฯ จะขนส่งน้ำมันปาล์มเป็นหลักราว 98%

“ในปี 2567 บริษัทฯยังคงตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากกองเรือ 55% ขณะทีรถบรรทุก 45% ขณะเดียวกันบริษัทตั้งงบการลงทุนในปี 2567 คงไว้ไม่สูงมาก เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทมีการใช้งบลงทุนค่อนข้างสูงจากการซื้อเรือ และรถ ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจโลจิสติกส์ที่ฟื้นตัว และกองเรือ-รถที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12-15% ตามลำดับ” นายพิศาล กล่าว

นายพิศาล กล่าวอีกว่า ส่วนของรายได้ในปี 2566 นั้นอยู่ในระดับที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงปีใน 2566 โดยค่าขนส่งของรถจะปรับตามราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการ ในขณะที่อัตราค่าขนส่งทางเรือจะเป็นไปตามกลไกตลาด และมีต้นทุนจากหลายปัจจัย เช่น ค่าจ้างคนเรือ , ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายส่วนของพนักงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจัยที่แปรผันมากที่สุดคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ในส่วนของการขนส่งบริษัทฯ มีการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 40,000 ตัน โดยเฉพาะทางเรือ และทางรถ รวมทั้งจากบริษัท เอเอ็มเอ โลจิสติกส์จำกัด หรือ AMALซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่เข้าถือหุ้น 100% โดยให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางรถ

อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2568-2569 ธุรกิจขนส่งทางเรือจะปรับตัวดีขึ้น จากฐานข้อมูลของโบรกเกอร์ในการซื้อขายเรือมือสอง ในปี 2568-2569 เรือเคมีคอล แทงเกอร์ ที่ใช้ในภูมิภาคเอเชีย ขนาด 13,000-15,000 ตัน จะลดลง และหากความต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์มของจีน และอินเดียเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนเรือลดลง ก็จะทำให้ความต้องการใช้เรือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทฯ

ทั้งนี้ บริษัทพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ โดยในปีที่แล้วสัดส่วนรายได้ที่มาจากการขนส่งทางเรืออยู่ที่ 55% จากในอดีตอยู่ที่ 80-90% ซึ่งปรับลดลงมาเรื่อยๆ และไปเพิ่มสัดส่วนกำไรจากการขนส่งอื่นๆ แทน เช่น การขนส่งทางรถและจากบริษัทย่อยต่างๆ ทั้งขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และขนส่งเม็ดพลาสติก เป็นต้น

Back to top button