BPS เทรดสนั่น! ระดมทุน 108 ล้านบาท ขยายธุรกิจโตแกร่ง

BPS เข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาด mai วันแรก จับตาราคาหุ้นพุ่งเหนือจอง 0.90 บาท ระดมเงิน 108 ล้านบาทใช้ลงทุนโครงการใหม่ๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริษัท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 เม.ย.67) หลักทรัพย์ บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ BPS เตรียมเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ BPS มีทุนชำระแล้วหลังเสนอขาย 200 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 280 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น โดยเป็นการเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวน 90 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 18 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงาน 12 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 27-29 มี.ค.67 ราคาหุ้นละ 0.90 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 108 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ 360 ล้านบาท

โดยการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) เท่ากับ 18 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (งบปี 66) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

สำหรับ BPS ประกอบธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าภายในอาคาร สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์โซลาร์เซล บริการจัดหา ออกแบบ ติดตั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลแบบติดตั้งบนหลังคา ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า โครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร

รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ จำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าภายในอาคาร สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์โซลาร์เซล บริการจัดหา ออกแบบ ติดตั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลแบบติดตั้งบนหลังคา ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า โครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์

ด้าน นายสุรพงษ์ สาเรชพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPS เปิดเผยว่า 19 ปีที่ผ่านมา บริษัทเป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่ครบวงจร บริษัทมุ่งมั่นสร้างการเติบโตด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบของโซลูชั่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับลูกค้า

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทจะนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการขยายธุรกิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา อุปกรณ์และงานติดตั้งนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ อุปกรณ์และงานติดตั้งไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร ศูนย์การเรียนรู้สำหรับช่างฯ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ทั้งนี้ BPS มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ กลุ่มนายสุรพงษ์ สาเรชพันธุ์ ถือหุ้นร้อยละ 45.16 ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SME ถือหุ้นร้อยละ 13.55 และนางสาวภัทรภร แก้วโพธิ์คา ถือหุ้นร้อยละ 11.29

พร้อมกันนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุใบทวิเคราะห์ว่า ประมาณการกำไรสุทธิปี 66-67 ของ BPS อยู่ที่ 20 ล้านบาท ลดลง 4% และ 35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% เทียบกับปีก่อน ตามลำดับ และโตต่อเนื่อง 37% ในปี 68 โดยกำไรในปี 66 ลดลงจากกำไรขั้นต้นที่ลดลง จากการแข่งขันด้านราคาที่สูงของการโครงการติดตั้ง Solar rooftop ที่มี GPM ที่ต่ำ

ทั้งนี้มองการเติบโตจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาวัสดุและติดตั้ง รวมถึงการจัดหาวัสดุที่มีต้นทุนที่ต่ำลงทำให้ GPM รวมทรงตัวได้ที่ราว 14% ในปี 66-68 แม้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง

พร้อมประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 67 ที่ 1.30 บาท อิง PE ปี 67 ที่ 15 เท่า ใกล้เคียง PE ของบริษัท CSS หรือบริษัท communication and system solution จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงกันที่ปัจจุบันเทรดอยู่ที่ 16 เท่า

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประมาณการกำไรปี 67 ที่ 36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% จากปีก่อน โดยปัจจัยการเติบโตจะมาจากการเพิ่มยอดขายหลังการเข้า IPO ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นสาหรับการขยายธุรกิจทั้งธุรกิจเกี่ยวกับระบบเดินสายไฟภายในอาคาร และธุรกิจใหม่ ได้แก่ Solar Rooftop ที่ยังมีการเติบโตตามกระแสไฟฟ้าสะอาดในปัจจุบัน รวมไปถึงธุรกิจการติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกซึ่งจะเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัทในอนาคต

ทั้งนี้ทางฝ่ายประเมินมูลค่าหุ้น โดยอ้างอิง PE ที่ 14 เท่า เทียบเท่า -0.25 S.D ของค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลัง 5 ปี ของบริษัท CSS ซึ่งคิดเป็นราคาพื้นฐานปี 67 ที่ 1.27 บาท/หุ้น

บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของ BPS ด้วยวิธี PER ได้ราคาเหมาะสมที่ 1.20-1.40 บาทต่อหุ้น อิง PER ปี 67 ที่ 13-15 เท่า เชื่อว่าหลังจากเพิ่มทุน IPO บริษัทฯ จะสามารถรองรับจำนวนงานที่เพิ่มขึ้นในส่วนของไฟเบอร์ออพติกจากที่ได้ใบอนุญาตจากทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยความร่วมมือทางธุรกิจกับ (NT TB) และ BPS ยังขยายการเติบโตเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากให้บริการในส่วนของ Data center ที่ได้ร่วมมือกับทาง (DELTA, TB)

Back to top button