BEM รายได้ผู้โดยสารเพิ่ม-บริหารต้นทุนเยี่ยม ดันกำไร Q1 แตะ 871 ล้านบาท

BEM รายงานกำไรไตรมาส 1/68 เติบโต 3% แตะ 871 ล้านบาท รับอานิสงค์รายได้บริการโดยสารแตะ 4,259 ล้านบาท พร้อมการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ


บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2568 พบว่ามีกำไรสุทธิ ดังนี้

บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/68 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 871.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 847.16 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก รายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปริมาณผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าโดยสารตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน

โดยรายได้จากการให้บริการ อยู่ที่ 4,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 10 ล้านบาท หรือ 0.2%  ส่วนต้นทุนการให้บริการ ยู่ที่ 2,327 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 30 ล้านบาทหรือ 1% สาเหตุหลักจากการบริหารรายจ่ายโดยภาพรวมได้เป็นอย่างดี รวมถึงการลดลงของค่าซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นไปตามแผนการซ่อมที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงิน อยู่ที่ 567 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 11 ล้านบาท หรือ 2% สาเหตุจากการชำระคืนเงินต้นตามสัญญา โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนของหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 77% และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 23%

ส่วน รายได้จากธุรกิจระบบราง อยู่ที่ 1,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 63 ล้านบาท หรือ 4% โดยรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพิ่มขึ้น 106 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% จากปริมาณผู้โดยสารที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตั้งแต่เดือน ก.ค. 67 หากไม่รวมผลกระทบจากการเปิดให้บริการฟรี ผู้ใช้บริการในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2%

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1/2568 ภาพรวมรายได้ของ BEM จากสามธุรกิจหลักนั้น มีจำนวน 4,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาท กำไรสุทธิ 871 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  24 ล้านบาท แม้ว่ารายได้ของธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการปิดให้บริการในช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่รายได้จากการให้บริการโดยภาพรวมยังคงใกล้เคียงกับปีก่อน อีกทั้งบริษัทมีการบริหารรายจ่ายทั้งส่วนของต้นทุนการให้บริการและต้นทุนทางการเงินได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลการดำเนินงานยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายได้จากธุรกิจระบบราง มีจำนวน 1,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้จากธุรกิจทางพิเศษ มีจำนวน 2,245 ล้านบาท ลดลง 54 ล้านบาท ในภาพรวมมีปริมาณรถที่ใช้ในทางพิเศษ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.11 ล้านเที่ยวต่อวันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณรถเฉลี่ยอยู่ที่ 1.12 ล้านเที่ยวต่อวัน และรายได้จากธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น มีจำนวน 265 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน

ทั้งนี้ BEM จะยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

Back to top button