เปิด 6 หุ้นตัวเต็ง เตรียมเด้งรับผลดีหลังตัวเลขส่งออกพุ่ง

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษ …


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร อีกทั้งกลุ่มผู้ผลิตอาหารแช่แข็งและแปรรูป หลังจากที่ตัวเลขส่งออกของไทยเดือนมี.ค.เติบโตเกินที่คาดการณ์ไว้ โดยกลุ่มที่ยอดตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น คือ 2 กลุ่มดังกล่าว

โดย บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าตัวเลขส่งออกของไทย เดือนมี.ค.ขยายตัวถึง 9.2% จากปีก่อน (ไม่รวมทองคำ+น้ำมัน ขยายตัว 9.0%) โดยเป็นการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม ยาง ,แช่แข็งและแปรรูป ,เครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิคส์ เป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจและสินค้าในกลุ่มที่ยอดส่งออกสูงขึ้น โดยเฉพาะสองตัวแรก (ยาง+ไก่) ที่มีการเติบโตมากกว่าปกติ

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมี.ค.60 ที่ขยายตัวได้ถึง 9.2% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดี และเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว ส่งผลให้การส่งออกไทยมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยยังเชื่อว่าทั้งปี 60 นี้การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มยาง และอาหารแช่แข็ง อีกทั้งอาจจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตอบรับในเชิงบวก “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจทั้ง 2 กลุ่ม และมีแนวโน้มว่าราคาหุ้นจะตอบรับมาทั้งหมด 6 บจ.ด้วยกันดังนี้ STA ,TRUBB ,TU ,CFRESH ,GFPT ,CPF

สำหรับกลุ่มยาง ประกอบด้วย STA ,TRUBB โดย นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงประเด็นปัจจัยพื้นฐานของยางธรรมชาติในตลาดโลก ปี 60 พบว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้ยางของโลกมีอยู่ประมาณ 12.7 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณสต๊อกยางในตลาดโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 60 มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านตัน และเมื่อเปรียบเทียบราคายางในขณะนี้กับปีที่แล้วพบว่าสูงขึ้น 100%

โดยราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ในเดือนมกราคมปีที่แล้ว อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่ในวันนี้ราคายางอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70 กว่าบาท ทั้งนี้ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางมีความแกว่งตัว ซึ่งมีสาเหตุจากการเก็งกำไรล่วงหน้าทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงเป็นบวก จึงขอฝากให้ติดตามข้อมูลและสถานการณ์ยางพาราอย่างใกล้ชิด

สำหรับปี 58 ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ประมาณ 4.47 ล้านตัน มูลค่าส่งออกรวมประมาณ 4 แสนล้านบาทเศษ เป็นรายได้ที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์การผลิตและการใช้ยางพาราของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหานั้น พบว่าปริมาณการผลิต และปริมาณการใช้ยางพาราไม่สมดุลกัน เกิดความผันผวนของราคายางตั้งแต่ปลายปี 54 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายาง และเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมลดภาระงบประมาณของรัฐบาล โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการยางให้มีการการดูดซับยางพาราออกจากระบบนำมาเก็บสต็อกของผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน (moving stock) เป็นการลดปริมาณยางในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีเสถียรภาพมากขึ้นอันจะเป็นผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” STA ให้ราคาเป้าหมาย 33.30 บาท/หุ้น หลังมองว่าในระยะสั้น ราคายางอาจมีการผันผวน แต่ปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวยังคงสนับสนุนการเติบโตของทั้งราคาขายยางและปริมาณการยอดขายของ STA โดยที่ STA ตั้งเป้ายอดขายปี 2560 อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน เติบโตราว 14% จากปีก่อน โดยที่ตั้งสมมติฐานราคาขายอยู่ที่ 210 cent/kg และคาดว่าปี 2560 จะมีภาวะขาดดุลยาง เนื่องจากปริมาณการส่งออกจากไทย อินโดนีเซียและมาเลเซียปรับตัวลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น จึงยังสนับสนุนให้ราคายางยังคงอยู่ในระดับสูงหากเทียบกับปี 2558-2559

ทั้งนี้ยังคงคาดการณ์รายได้รวมปี 2560 ที่ 1.13 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 46.8% จากปีก่อน จากการที่ราคายางแท่งและปริมาณการขายคาดว่าจะมีการเติบโต

 

กลุ่มอาหารแช่แข็งได้แก่ TU ,CFRESH ,GFPT และCPF

โดย บล.ธนชาต ยังคงมองกำไรของ TU จะเติบโต 14-19% ในปี 60-62 จากธุรกิจต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทั้งธุรกิจแซลมอนที่เคยมีปัญหาจากลานินญ่า ก็เริ่มคลี่คลายและพลิกกลับมาคุ้นทุน ,ธุรกิจ Red Robster ซึ่งมีไฮซีซั่นในไตรมาส 1 คาดว่าจะส่งผลกำไรไตรมาส 1/60 ให้เติบโตดี ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 14.8% มาที่ 15.2-16.1% ในปี 60-62 มอง PE ที่ 16 เท่า ยังไม่แพง

ขณะที่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” CFRESH ราคาเป้าหมาย 8.70 บาท/หุ้น คาดกำไรฟื้นจากฐานที่ต่ำแต่ยังถูกกดดันจากค่าเงินและวัตถุดิบขณะที่คาดปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยง ยังต้องจับตาค่าเงินปอนด์ ราคาวัตถุดิบกุ้งในประเทศ

ทั้งนี้มองแผนขยายการลงทุนไปยังธุรกิจต้นน้ำจะเป็นบวก ช่วยหนุนให้ต้นทุนไม่ผันผวน สร้างเสถียรภาพด้านกำไรระยะยาว โดยปรับประมาณการปีนี้ลงจากปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีผลกระทบอยู่ มองกำไรโดยรวมเติบโตจากฐานที่ต่ำได้ตามการฟื้นตัวของธุรกิจในประเทศ ปรับราคาเหมาะสมลงเป็น 8.70 บาท แนะนำ “ซื้อ” จากราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาก

 

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ “ซื้อ” GFPT ราคาเป้าหมาย 19.10 บาท/หุ้น โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 จะเติบโต 52% จากปีก่อน เป็น 419 ล้านบาท โดยเป็นผลจากปริมาณส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่เติบโต (ประมาณการไว้ +7% จากปีก่อน) และอัตรากำไรขั้นต้นที่อยู่ในเกณฑ์สูง 16% ซึ่งดีกว่าช่วงไตรมาส 1/59 ที่ทำได้ 11.5% แต่หากเทียบ กับไตรมาสก่อนกำไรสุทธิจะอ่อนลง 13% เพราะปัจจัยฤดูกาลและอัตรากำไรขั้นต้นช่วงไตรมาส 4/59 สูงมากถึง 17%

ทั้งนี้คงคำแนะนำซื้อ โดยปรับเพิ่มราคาพื้นฐานเป็น 19.10 บาท (เดิม 17.40 บาท) อิงกับ P/E ปี 60 ที่ 13 เท่า ทั้งนี้เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 60-61 เพิ่มขึ้น 10% และ 2% เป็น 1.85 พันล้านบาท และ 1.88 พันล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนยอดขายและมาร์จิ้นที่มีแนวโน้มดีกว่าคาดการณ์เดิม ราคาหุ้นอ่อนตัวลงมาเป็นจังหวะซื้อ

 

ขณะที่ บล.ซีไอเอ็มบี แนะนำ “ซื้อ” CPF ราคาเป้าหมาย 40.25 บาท/หุ้น โดยคาดว่า CPF จะมีกำไรปกติ 2.4 พันล้านบาท (ลดลง 9% จากปีก่อน, เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน) ในไตรมาส 1/60 ซึ่งกำไรที่อ่อนตัวจากปีก่อน น่าจะเป็นผลมาจากราคาสุกรและปริมาณการขายกุ้งที่ลดลง แต่อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 2/60 เมื่อราคาสุกรและไก่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ยังมองเชิงบวกต่อแนวโน้มกำไรของ CPF ในปี 60 เพราะคาดว่าทั้งธุรกิจไก่และกุ้งจะมียอดขายเติบโต

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำหรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button