WHAUP ส่งซิกกำไรนิวไฮยันปีหน้า รับรู้รายได้ COD โรงไฟฟ้า SPP 520MW

WHAUP ส่งซิกกำไรนิวไฮยันปีหน้า รับรู้รายได้ COD โรงไฟฟ้า SPP 520MW ด้าน โบรกฯ ชูความมั่นคงทางรายได้เติบโตสูง ส่วนธุรกิจน้ำยังเติบโตต่อเนื่อง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลของบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP หลังผู้บริหารคาดการณ์ว่า แนวโน้มกำไรของ WHAUP อย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการโรงไฟฟ้า SSP อย่างต่อเนื่อง และยังเดินหน้ามองหาโอกาสลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกด้วย

รวมทั้งในปีหน้ายังจะได้รับประโยชน์จากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงราว 1% ได้เต็มปี หลังจากที่ได้ออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาทเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกในปีหน้า เพื่อใช้รีไฟแนนซ์และรองรับการลงทุน ขณะที่ นักวิเคราะห์ มองว่า WHAUP มีความมั่นคงของรายได้สูงจากธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ราคาหุ้น WHAUP ปิดตลาดวานนี้ (5 ต.ค.) อยู่ที่ 7.40 บาท บวก 0.15 บาท หรือ 2.07% สูงสุดที่ 7.50 บาท ต่ำสุดที่ 7.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 188.84 ล้านบาท และยังคงมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 8.15 บาท อยู่ 10.14%

 

โดย นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ากำไรปี 61 จะทำระดับสูงสุดต่อเนื่องจากปีนี้ หลังจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้น และการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม

โดยบริษัทเตรียมจะประกาศแผนในช่วงไตรมาส 4/60 ถึงไตรมาส 1/61 ซึ่งมีศักยภาพผลิตไฟฟ้ามากถึง 200 เมกะวัตต์บนพื้นที่หลังคาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของตัวเองที่มีอยู่ราว 2.1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) แต่เบื้องต้นน่าจะดำเนินการได้ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ในปีหน้ายังจะได้รับประโยชน์จากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงราว 1% ได้เต็มปี หลังจากที่ได้ออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาทเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกในปีหน้า เพื่อใช้รีไฟแนนซ์และรองรับการลงทุน ซึ่งในปีหน้าบริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นราว 2-2.5 พันล้านบาท จากราว 2 พันล้านบาทในปีนี้ โดยไม่รวมงบสำหรับการซื้อกิจการ (M&A)

“กำไรปีนี้ก็จะพีค ปีหน้าก็จะพีคขึ้นไปอีก เพราะเราจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า SPP ที่เปิดดำเนินการในปีนี้ได้เต็มปีในปีหน้า และปีหน้าก็จะมีโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ COD อีก 1 โรงในเดือนมกราคม และโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่จะเข้ามาเพิ่มเติม และต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย”นายวิเศษ กล่าว

โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการร่วมทุนในมือ 542 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 447.1 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 3 แห่งที่เปิดดำเนินการในปีนี้ ขณะที่ในเดือน พ.ย.นี้จะเปิดโรงไฟฟ้า SPP อีก 1 แห่ง โดยทั้ง 4 แห่งที่ COD ในปีนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ร่วมทุนกับกลุ่มกัลฟ์ โดยถือหุ้นในสัดส่วน ราว 25-30% กำลังการผลิตแห่งละ 130 เมกะวัตต์

นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้า SPP รอบใหม่จากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน และบริษัทก็จะไม่เข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน SPP Hybrid Firm ด้วยข้อจำกัดเรื่องเชื้อเพลิง หรือโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่มีข้อจำกัดเรื่องเจ้าของโครงการ

โดยจะทำให้บริษัทจะหันมารุกการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งไม่ต้องรอการรับซื้อจากภาครัฐ โดยเฉพาะการทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของกลุ่มบริษัทที่ปัจจุบันได้ทดลองทำบนหลังคาโรงงานให้เช่า ขนาด 0.9 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเปิดการผลิตในเดือน ต.ค.นี้

ส่วนการลงทุนธุรกิจน้ำนั้น บริษัทศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมจากปีที่แล้วที่มีการผลิตและจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมในปริมาณ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านลบ.ม.ในปีนี้ อีกทั้งยังได้ทดลองการนำน้ำเสียมาผลิตเป็นน้ำอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายเพิ่มเติมด้วย ซึ่งน่าจะนำเข้าระบบได้ในไตรมาส 1/61 ก็จะเป็นโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่เพิ่มเติมนอกจากปัจจุบันที่ใช้น้ำดิบมาทำน้ำอุตสาหกรรม ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าน้ำอุตสาหกรรมอยู่ราว 700-800 ราย

โดยบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนธุรกิจน้ำประปาในเมียนมา ขนาดกำลังการผลิต 2.5-5 พันลบ.ม./วัน หรือราว 1.2 ล้านลบ.ม./ปี เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในเมือง คาดว่าจะได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันก็ยังศึกษาธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมภายในนิคมฯที่เมียนมาด้วย แต่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก

ทั้งนี้บริษัทยังมองโอกาสการขยายลงทุนยังประเทศในกลุ่ม CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยในส่วนเมียนมา เน้นในส่วนของธุรกิจน้ำเป็นหลักก่อน ส่วนธุรกิจไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดและเงื่อนไขอีกมาก , เวียดนาม จะเป็นการขยายงานตามบริษัทแม่คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่จะเข้าไปลงทุนทำนิคมฯ

โดยบริษัทก็จะเข้าไปให้บริการในส่วนของธุรกิจน้ำอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในปี 61 และเริ่มเปิดการผลิตได้ในปี 62 ส่วนธุรกิจไฟฟ้ายังต้องใช้เวลาพิจารณาด้วยราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าของไทยค่อนข้างมากยังเป็นข้อจำกัดในการลงทุน

สำหรับการลงทุนในปีหน้า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทในเดือนพ.ย. ซึ่งจะมีแผนระยะสั้น 1 ปี และระยะกลาง 3-5 ปี โดยเบื้องต้นงบลงทุนในปีหน้าจะอยู่ที่ราว 2-2.5 พันล้านบาท ใกล้เคียงปีนี้ที่ลงทุนราว 2 พันล้านบาท แม้ว่างบผูกพันของโรงไฟฟ้าเดิมจะลดลง เพราะโรงไฟฟ้าทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว แต่ก็จะมีการลงทุนใหม่ในโครงการโซลาร์รูฟท็อป และธุรกิจน้ำ ซึ่งแหล่งเงินรองรับการลงทุนจะมีทั้งจากกระแสเงินสด ,เงินกู้โครงการ (project finance) หรือการออกหุ้นกู้

 

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” WHAUP ให้ราคาเป้าหมาย 8.15 บาทต่อหุ้น เนื่องจาก WHAUP มีความมั่นคงของรายได้สูงจากการได้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคและสิทธิ์ในการเข้าลงทุนก่อนจากกลุ่มเหมราชฯ เป็นเวลา 50 ปี

ประกอบกับบริษัทมีรายได้จากธุรกิจน้ำยังเติบโตต่อเนื่องจากราคาขายน้ำและปริมาณน้ำที่ขายเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นและส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้น 1.96% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้า Gheco-1 ในไตรมาส 3/60 เต็มไตรมาส (ไตรมาส 1/60 ปิดซ่อมไป 35 วัน) รวมทั้งโรงไฟฟ้า GVTP ที่เริ่ม COD ในเดือนพ.ค.

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจน้ำอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 33.17% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 35.02% เนื่องมาจากในไตรมาส 2/60 มีการซ่อมบำรุงระบบน้ำตามแผน และมีค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นจากการโอนระบบรวบรวมน้ำเสียในนิคม HESIE และ HESIE4 ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 149% จากการขยายประเภทธุรกิจและเพิ่มพนักงานเพื่อรองรับการเติบโต บริษัทมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเงินกู้ยืมเพื่อนำมาซื้อธุรกิจน้ำจากกลุ่ม WHA ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มลดลงหลังจากบริษัทออกหุ้นกู้มาชำระเงินกู้ก่อนครบกำหนดชำระ โดยสรุปบริษัทมีกำไรสุทธิที่ 973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 202% (หลักๆมาจากการเปิดดำเนินการเต็มไตรมาส 2 ของโรงไฟฟ้า Gheco-1)

นอกจากนี้ยังคาดว่า ปริมาณการขายน้ำทั้งปีอยู่ที่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 50% ของเป้าทั้งปี)  และราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ส่วนแบ่งกำไรครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาอีก 1 โรง ขนาด 31.3 Equity MW และจาก  Gheco-1 ที่กลับมาดำเนินงานเต็มไตรมาส

รวมทั้งคาดว่าส่วนแบ่งกำไรทั้งปีเป็น 2,102 ล้านบาท โต 118% (รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน) ส่งให้กำไรสุทธิในครึ่งปีหลังอยู่ที่ 1,235 ล้านบาท รวมทั้งปี  2,208.64  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 500.81% จากปีก่อน  (สาเหตุที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาจากการที่บริษัทได้รับโอนธุรกิจน้ำเข้ามาจากกลุ่ม WHA ระหว่างปี 59) ส่วนในปี 61 และ ปี 62 มีการรับรู้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเข้ามาอีกปีละ 1 โรง ส่งผลให้ธุรกิจพลังงานยังมีการเติบโตได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

 

Back to top button