5 หุ้นสายการบินรับศึกหนัก! น้ำมันพุ่ง-บาทอ่อน-เรือล่มภูเก็ต ฉุดหุ้นเดี้ยงยาว 7 เดือน

ย้อนรอยข่าวดัง" 5 หุ้นสายการบินรับศึกหนัก! น้ำมันพุ่ง-บาทอ่อน-เรือล่มภูเก็ต ฉุดราคาหุ้นเดี้ยงยาว 7 เดือน


ครึ่งปีแรกของปี 2561 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น (ตลท.) โดย หุ้นสายการบิน เป็นอีกกลุ่มยังเผชิญศึกหนักรอบด้านไม่ว่าจะเป็นต้นทุนราคาน้ำมันเครื่องบินสูง และค่าเงินบาทอ่อนในรอบเกือบ 1 ปี โดยเทียบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์เมื่อเดือนส.ค.60 อีกทั้งเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมาคาดว่าจะกระทบตัวเลขนักท่อเที่ยวจีนลดลงและคาดว่าจะทำให้ผลงานในไตรมาส 3/61ออกมาไม่สดใส

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2561 ถือเป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่เเพียงเท่านั้นราคาหุ้นนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดอยู่ในทิศทางไม่สดใส โดยเห็นได้จากตารางประกอบราคาหุ้นสายการบินในช่วงเกือบ 7 เดือนที่ผ่าน โดยเทียบราคาหุ้น ณ วันที่ 29 ธ.ค. 61-วันที่ 25 ก.ค. 2561 โดยราคาหุ้นทั้ง 5 ตัว อาทิ  AOT,THAI.BA,AAV และ NOK ยังติดลบกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตามแม้ราคาหุ้นทั้ง 5 ตัวจะปรับลดลง แต่โบรกฯเกอร์ชั้นนำของไทยยังมองว่าราคาหุ้นบางตัวยังมีพื้นฐานแข็งแกร่งและยังมีแผนธุรกิจที่น่าสนใจและน่าเข้าลงทุนดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจเข้าลงทุนกลุ่มสายการบินทางทีมงาน“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงได้รวบรวมข้อมูลบทวิเคราะห์ในหุ้นกลุ่มดังกล่าวมานำเสนอตามบทวิเคราะห์ดังนี้

โดย บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่าใน ไตรมาส 1/61 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทย 3.17 ล้านราย เติบโตถึง 30.15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำในช่วง ไตรมาส 1/60 จากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ต่อมาในไตรมาส 2/61 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน 2.75 ล้านราย ปรับตัวลดลง 13% เทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 21.28% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปี 2561 มีช่วงวัดหยุดยาว Golden Week ของจีนอยู่ในช่วงเดือนก.พ.จึงส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลง เทียบไตรมาสก่อนหน้า

ด้านเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าในไตรมาส 3/61 จะได้รับผลกะทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และจำนวนนักท่องเที่ยงจีนอาจลดลง แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าทั้งปี 2561 นักท่องเที่ยงจีนจะยังสามารถคงสัดส่วนได้ที่ 29-30%

ทางด้านนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียก็มีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปีที่มีการเติบโต 18.33% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าในช่วงเดือนมิ.ย. 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียจะอยู่ที่ 48,500 ราย ปรับตัวลดลง 16% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากเริ่มเข้าช่วง Low Season ของการท่องเที่ยวในภูเก็ต (พ.ค.-ก.ย.) ซึ่งเป็น Destination หลักของชาวรัสเซีย ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลฟุตบอลโลก 2018 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียปรับตัวลดลง โดยคาดว่าในช่วงเดือนก.ค.2561 นักท่องเที่ยวรัสเซียจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากฟุตบอลโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ดีเชื่อว่าทั้งปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส4/61 ที่จะเริ่มกลับมาเป็น High Season ของการท่องเที่ยวภูเก็ต

ทั้งนี้ชาวรัสเซียเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสูงสุดในปี 2556 จำนวน 1.7 ล้านราย แต่ค่าเงินรูเบิลได้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศลดลง และได้เดินทางมายังประเทศไทยต่ำสุดในปี 2558 ที่ 8.84 แสนรายหรือลดลงถึงครึ่งหนึ่งจากที่เคยเดินทางมา แต่อย่างไรก็ดีเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ที่กลับมาสูงกว่าปี 2556 และได้ทำยอดรวมปี 2560 ที่ 1.35 ล้านราย เติบโต 12.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จะเป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยวในประเทศและเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนปรับตัวลดลงในไตรมาส 3/61 แต่ยังเชื่อว่าในไตรมาส 4/61 จะสามารถกลับมาเติบโตอีกครั้ง และเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 38 ล้านรายยังมีโอกาสเข้าเป้า

 

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ราคาหุ้นกลุ่มสายการบินปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ฉุดโดย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ทิศทางผลประกอบการไตรมาส 2/61 หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เพราะเข้าสู่โลว์ซีซั่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อีกปัจจัยที่เป็นเซนติเมนต์เชิงลบระยะสั้น คือความกังวลกรณีเรือนักท่องเที่ยวชาวจีนล่มในจังหวัดภูเก็ต และมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนถึงขั้นต้องปรับประมาณการกลุ่มสายการบินหรือไม่ แต่ต้องไปประเมินอีกทีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่เป็นไฮซีซั่น ว่าปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนจะลดลงจากกระแสความไม่พอใจของชาวจีนหรือไม่? อย่างไร?

ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ถือว่าเข้าสู่โลว์ซีซั่นธุรกิจกลุ่มสายการบิน ทำให้หุ้นกลุ่มสายการบินยังไม่น่าสนใจลงทุน ส่วนผู้ที่เคยเข้าไปซื้อในราคาสูงกว่าปัจจุบัน แนะนำถือไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปี ว่าจะเติบโตได้ตามความคาดหวังหรือไม่

โดย 2 ตัวแปรสำคัญที่จะมีผลกระทบกับประมาณการหุ้นสายการบินในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ ปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งปีว่าจะมากหรือน้อยกว่าเป้าหมายที่ 38 ล้านคน และต้นทุนราคาน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งหากสูงเกินกว่าระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ก็จะมีโอกาสทบทวนลดประมาณการได้เช่นกัน

ดังนั้นจึงเลือก AOT เพราะมีปัจจัยพื้นฐานการเติบโตแข็งแกร่งมากกว่าผู้ประกอบการายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน มีแผนลงทุนระยะยาว และเป็นหุ้นที่มีความผันผวนรายไตรมาสน้อย โดยประเมินราคาเหมาะสมอยู่ที่ 82 บาท โดยแนะจับตาความชัดเจนของแผนการลงทุนในครึ่งปีหลังของ AOT โดยเฉพาะการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีฉบับใหม่ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

 

ด้านบล.เคที ซีมิโก้  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า THAI ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี หลังจากเข้าไปช่วยฟื้นฟูกิจการแล้วจะทำให้ THAI กลับมาติด 1 ใน 5 อันดับของสายการบินที่ให้บริการดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Skytrack จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 10 ตาม หลังอันดับ 1-5 ซึ่งได้แก่ Singapore Airlines, Qatar Airways, All Nippon Airways, Emirates และ EVA โดยจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นสายการบิน Premium Airlineอย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่สูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการในปัจจุบัน THAI เป็น 1 ใน 6 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟู

Comment มีมุมมองเป็นกลางจากข่าวดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ขณะที่ในระยะสั้นๆ ผลประกอบการในไตรมาส 2/61 และไตรมาส 3/61 ของ THAI ยังอาจจะต้องประสบภาวะขาดทุนจากราคาน้ำมันที่สูงและเงินบาทที่อ่อนค่า และอยู่ในช่วง Low Season ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ทั้งนี้ แม้ว่ายังคงคำแนะนำ “Outperform” สำหรับ THAI และคงราคาเป้าหมาย (P/BV) ที่ 17.00 บาท แต่ระยะสั้นยังต้องระมัดระวังทิศทางราคาน้ำมันและการอ่อนค่าของเงินบาทต่อไป

 

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผุ้อำนวยการใหม่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) เพื่อสร้างรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน และเห็นแนวโน้มการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ 3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปความร่วมมือภายใน 2-3 เดือน เพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลบริหารพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะเปิดประมูลปีนี้ รวมถึงในท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเขตตะวันออก (EEC) ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยบริษัทวางเป้าหมาย 3  ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจดิวตี้ฟรีในสัดส่วน 5% ของรายได้รวม

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีที่สนามบินสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงสนามบินอู่ตะเภา (พื้นที่ปัจจุบัน) และ สนามบินหลวงพระบาง หลังจากที่บริษัท บางกอกแอร์เวย์โฮลดิ้ง จำกัด เข้าซื้อกิจการ บริษัท มอร์แดนฟรี จำกัด โดยคาดว่าปีนี้จะยังมีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการพิจารณาเม็ดเงินลงทุนต่อไป โดยในพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินสมุยซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของ ได้เตรียมงบลงทุนปรับปรุงพื้นที่จำนวนกว่า 100 ตรม. และงบลงทุนในพื้นที่ดิวตี้ฟรีใหม่หากชนะประมูล

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า ทิศทางหุ้นครึ่งปีหลัง ฟุบหรือไปต่อ”ว่า ยังคงมั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 9-10% แม้ว่าในเดือน ก.ค. จะเติบโตได้เพียง 4.5% จากเดิมที่เติบโตกว่า 8-9% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินถึงสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับลดลงว่ามาจากเรื่องผลกระทบจากเรือล่มที่ภูเก็ต หรือ การชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยวที่บินไปรัสเซียในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกหรือไม่ โดยจะต้องประเมินทั้งจากเที่ยวบินที่ลดลงแบบไฟล์ทต่อไฟล์ท แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ของ AOT จะสามารถเติบโตได้มากกว่าปริมาณการเติบโตของผู้โดยสารที่ 9-10% เนื่องจากสัดส่วนการเดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าการบินในประเทศ และได้รับอานิสงส์จากการที่ไทยได้รับการปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และปัญหาของทัวร์ศูนย์เหรียญที่ได้รับการแก้ไข

ส่วนความคืบหน้าการหาผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายใหม่นั้น ในช่วงเดือน ก.ค-ส.ค. คาดว่าจะสามารถเปิดร่าง TOR ได้อย่างแน่นอน และคาดว่าจะได้ผู้ประกอบการรายใหม่ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนของบริษัทฯที่พยายามคัดเลือกผู้ประกอบการรายใหม่ให้ได้ก่อนรายเก่าจะสิ้นสุดสัญญา 2 ปี หรือ ก.ย. 63

สำหรับความคืบหน้าของการรับมอบ 4 สนามบิน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก คาดว่าจะสามารถรับมอบเพื่อมาบริหารได้ภายในเดือนมิ.ย. 62 ขณะที่อีก 2 สนามบินสร้างใหม่ คือ เชียงใหม่แห่งที่ 2 และพังงา คาดว่าจะเสนอนคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือนก.ค.-ส.ค. นี้ และหากผ่าน ครม. จะเริ่มหาที่ดินได้ทันที ซึ่งหากได้ที่ดินครบแล้วจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 ปี

ด้าน บล.เคที ซีมิโก้ มีความเห็นเป็นกลางสำหรับข่าวดังกล่าว เนื่องจากยังคงอยู่ระหว่างแผนการดำเนินงาน แต่เราเห็นด้วยกับกลยุทธ์ของ BA เพราะจะเป็นการช่วยลดผลกระทบของธุรกิจสายการบินที่มีความผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมันหรือค่าเงิน รวมถึงความผันผวนของกำไรของธุรกิจสายการบินจากปัจจัยด้านฤดูกาล ปัจจุบันคงคำแนะนำ “Outperform” สำหรับ BA และคงราคาพื้นฐานที่ 16.20 บาท (อิงวิธี SOTP)

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน    

Back to top button