
งัด “แผนจักรพงษ์ภูวนารถ” ผบ.ทบ. สั่งทัพภาค 1-2 พร้อมตอบโต้กัมพูชา
ชายแดนไทย-กัมพูชาเดือด! ทหารไทยเหยียบกับระเบิด บาดเจ็บเพิ่ม 5 นาย “ผบ.ทบ.” ลงพื้นที่บัญชาการเอง พร้อมสั่งทัพภาค 1-2 เตรียมพร้อมปฏิบัติแผนจักรพงษ์ภูวนารถ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพบก ออกแถลงการณ์ประณามฝ่ายกัมพูชา จากเหตุลอบวางทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนช่องอานม้า อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 5 นาย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 16:55 น. ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 เกิดเหตุการณ์ที่กำลังพลของกองทัพบกจากชุดลาดตระเวน กองพันทหารราบที่ 4 ประสบกับทุ่นระเบิด บริเวณห้วยบอน ช่องอานม้า อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแนวพื้นที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
จากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้กำลังพลของกองทัพบกได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 5 นาย โดยมี 1 นาย ขาขวาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบกับระเบิด และอีก 4 นาย มีอาการแน่นหน้าอก หูอื้อ จากแรงสั่นสะเทือนของแรงระเบิด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ณ โรงพยาบาลน้ำยืน
พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะลงพื้นที่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ พร้อมได้สั่งการให้กำลังกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกำลังส่วนต่าง ๆ เตรียมพร้อมปฏิบัติตามแผน “จักรพงษ์ภูวนารถ”
กองทัพบกขอประณามอย่างรุนแรงต่อการกระทำอันไร้มนุษยชน ซึ่งละเมิดต่อหลักมนุษยธรรมสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ อันเกิดขึ้นภายในเขตราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการกระทำของฝ่ายกัมพูชา และขอเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยถือเป็นการกระทำที่เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพชายแดนระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ กองทัพบกขอยืนยันว่า จะใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ในการดำเนินการตามกรอบที่เหมาะสม เพื่อปกป้องความปลอดภัยของกำลังพลและประชาชนชาวไทย มิให้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป
สำหรับแผน “จักรพงษ์ภูวนารถ” เป็นแผนปฏิบัติการทางทหารของกองทัพบกไทย ซึ่งชื่อได้รับแรงบันดาลใจจากจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้วางรากฐานยุทธศาสตร์ทหารสมัยใหม่ของประเทศไทย
โดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเตรียมทหารรุ่น 21 มีบทบาทสำคัญในการร่างแผนนี้ ซึ่งเคยถูกนำไปใช้ในการศึกเขาพระวิหารเมื่อปี 2554 ส่งผลให้ฝ่ายกัมพูชาถอยร่นไปอย่างมีนัยสำคัญ