“ไพบูลย์” แนะผลักดัน “Investing Thailand” ดึงความเชื่อมั่น-เม็ดเงินต่างชาติ

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” เตือนเศรษฐกิจโลกฉุดตลาดทุนไทย พร้อมเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้าง-กระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ หวังพลิกภาพเศรษฐกิจและดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติระยะยาว


นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยบนเวทีเสวนาในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 หัวข้อ “กี่โมง…หุ้นขึ้น ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ เมื่อวันนี้ ( 17 พ.ค.68) ว่าตลาดทุนไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป แม้หุ้นไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรงจะมีสัดส่วนน้อย แต่ผลกระทบเชิงลึกได้แผ่ซึมเข้าสู่ภาคการผลิตและการส่งออกโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ส่งผลให้จังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างชลบุรีประสบภาวะการบริโภคที่ซบเซา นายไพบูลย์ชี้ว่า “สูตรเดิม” อย่างการลดค่าเงินบาทเพื่อเร่งการส่งออก อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการค้าระดับโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มาตรการกีดกันการค้า และต้นทุนที่สูงขึ้น

โดยภาคเอกชนและนักลงทุนเริ่มหันกลับมาพึ่งพาตลาดในประเทศ ทว่ากลับเผชิญอุปสรรคจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังขาดการปฏิรูป แม้รัฐบาลจะออกนโยบายกระตุ้นหลายชุด แต่ข้อจำกัดหลักยังคงอยู่ที่ “การปฏิบัติจริง” ซึ่งยังไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนที่แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจได้

ด้านตลาดทุน ดัชนี SET ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ และอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่เคยขึ้นไปแตะ 1,800 จุด ขณะที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนลดลงมากกว่า 30% ซึ่งสะท้อนภาวะการดำเนินงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดทุนในระยะยาว

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันมาตรการเชิงรุก เช่น การสนับสนุน SME การเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ และการปรับโครงสร้างตลาดทุนตามแบบญี่ปุ่น แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่องและความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน

นายไพบูลย์ เสนอให้ผลักดันแคมเปญ “Investing Thailand” ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นการเปิดเผยศักยภาพของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ยังขาดการวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ ปัจจุบันมีเพียงราว 200 บริษัทที่ได้รับการติดตามใกล้ชิด จากทั้งหมดกว่า 800 บริษัทในตลาด

นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้ง “บัญชีออมทรัพย์เพื่อการลงทุน” (Thailand Individual Saving Account) เพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนในระยะยาว รวมถึงเป็นกลไกในการดึงเงินทุนของคนไทยในต่างประเทศกลับเข้าระบบการลงทุนภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่มีสัญญาณบวกบางส่วนเริ่มปรากฏ เช่น ค่า Debt-to-Equity Ratio ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.1 เท่า ซึ่งปรับตัวลดลงจากช่วงวิกฤตโควิด สะท้อนถึงการปรับฐานและการฟื้นตัวทางการเงินของภาคธุรกิจ

“แม้ตลาดอาจยังมีแรงเก็งกำไรระยะสั้น แต่หากภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง มีความชัดเจนและไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางกลางคัน พร้อมเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน ถ้ารัฐบาลเลือกเดินหน้าในเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่แจกเงินชั่วคราว เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติได้” นายไพบูลย์ กล่าว

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยเฉพาะ GPSC ที่พลิกกลับมาทำผลงานในเชิงบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 3-4 ปี หากรัฐสามารถรักษาเสถียรภาพทางนโยบายและเร่งผลักดันมาตรการที่เป็นรูปธรรม ตลาดทุนไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีหน้า โดยเฉพาะหากสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้อีกครั้ง

Back to top button