
“ธนินท์” ชี้ทางรอดไทย! เปลี่ยนเป้า “ศูนย์กลางการค้า” สู่ “ฐานผลิตเทคโนโลยีโลก”
“ธนินท์” เปิดมุมมองยกบทเรียนจีนพัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานสมองคนรุ่นใหม่ ชี้ไทยมีศักยภาพก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิต หากวางยุทธศาสตร์ถูกจุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) กล่าวในงาน Exclusive Dinner Talk ไทย–จีน หัวข้อ “50 ปี ไทย–จีน: The Golden Road – From Now to Eternity” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ว่า การเข้าไปลงทุนในประเทศจีน ตลอดกว่า 46 ปี โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการผลิต ไม่ใช่เน้นเพียงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งความก้าวหน้าของจีนในด้านการใช้เทคโนโลยี อาทิ หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ และระบบการผลิตที่ทันสมัย ส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพดีในราคาที่แข่งขันได้ และกระจายสู่ตลาดโลก พร้อมยกตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เช่น หัวเว่ย (HUAWEI) อาลีบาบา (Alibaba) และเทนเซ็นต์ (Tencent) ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลัง
นอกจากนี้ จีนยังมีบุคลากรรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการออกแบบและพัฒนาจรวด โดรน และหุ่นยนต์ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของสมองและความมุ่งมั่น มากกว่าการพึ่งแรงงานราคาถูก
ประธานอาวุโสเครือซีพี ยังเล่าถึงประสบการณ์การพูดคุยกับผู้พัฒนาจรวดของจีน ซึ่งสามารถทดสอบยิงจรวดได้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก โดยระบุว่า เหตุผลที่ต้องสำเร็จในครั้งเดียว เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จึงต้องดำเนินการอย่างแม่นยำ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน ใช้เวลาถึง 5 เดือนในการตรวจสอบทุกชิ้นส่วนอย่างละเอียดก่อนปล่อยจรวด
นายธนินท์ ขยายความว่าที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะจีนในวันนี้ แม้จะผลิตสินค้าเพื่อส่งออกทั่วโลก แต่ “สมอง” หรือแกนเทคโนโลยีหลักจะยังอยู่ในจีน ดังนั้นประเทศไทยควรพิจารณาใช้จุดแข็งด้านภูมิศาสตร์และบทบาทที่มีความสัมพันธ์ดีกับทุกประเทศ เป็นฐานเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในอนาคต
พร้อมเสนอว่า ไทยควรยกระดับจากศูนย์กลางการค้า ไปสู่ศูนย์กลางการผลิตสินค้าเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ ชิ้นส่วนไอโอที และระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางโลก
นายธนินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนสร้างพื้นฐานในไทยไว้แล้ว สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ผลิตแล้วควรต่อยอด ส่งออกสู่ตลาดโลก ไม่ใช่แค่เพื่อบริโภคในประเทศ เพราะไทยมีประชากรราว 60 ล้านคน แต่หากรวมอาเซียน จะเพิ่มเป็น 600–700 ล้านคน
ขณะเดียวกัน หากไทยสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนที่ไม่มีภาษีนำเข้า–ส่งออกทั้งสองฝ่าย ซึ่งการที่ไทยจะได้เปรียบต้องศึกษาก่อนว่าสิ่งที่ตลาดจีนต้องการคืออะไร และจะสามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นได้อย่างไร โดยไทยควรส่งเสริมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนไทยเอง และต้อนรับนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมด้วย
ขอบคุณภาพ : มติชน