โบรกฯ ชู ‘KTB-TTB’ โดดเด่น

กลุ่มธนาคารพาณิชย์หรือกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง รายงานตัวเลขผลประกอบการงวดไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนของปี 2565 ออกมาครบแล้ว


เส้นทางนักลงทุน

กลุ่มธนาคารพาณิชย์หรือกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง รายงานตัวเลขผลประกอบการงวดไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนของปี 2565 ออกมาครบแล้ว โดยงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิรวมกัน 5.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.61%

ส่วนงวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิ 1.06 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 7,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น

หากวัดที่ตัวเลขผลกำไร แบ่งเป็นกลุ่มแบงก์ใหญ่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ยังเป็นแชมป์สร้างผลกำไรได้มากที่สุด 10,793.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.36% สำหรับงวดไตรมาส 2 และมีกำไร 22,004.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.72% สำหรับงวด 6 เดือน

รองลงมาคือ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) โชว์กำไร 10,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.02% และ 20,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.31% ตามลำดับ

ตามมาด้วย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กำไร 7,834 ล้านบาท ลดลง 46.13% และ 15,252 ล้านบาท ลดลง 27.54% ตามลำดับ ในความเป็นจริง หากไม่หักรายการจากการขายหุ้น บมจ.เงินติอล้อ ในปี 2564 กำไรของ BAY งวด 6 เดือน จะเพิ่มขึ้นถึง 2,390 ล้านบาท หรือ 18.6% ทีเดียว

ส่วน บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปีนี้ 6,961.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% งวด 6 เดือน กำไร 14,079.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.01%

เซอร์ไพร์สของปีนี้ยังอยู่ที่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) โชว์กำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 กำไรดีขึ้น 39.05% เป็น 8,358.39 ล้านบาท และ 6 เดือน กำไร 17,138.73 ล้านบาท ดีขึ้น 47.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

นอกจากนี้ 3 แบงก์ขนาดกลาง-เล็ก ก็ร่วมเซอร์ไพรส์สร้างผลงานได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะบมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ไตรมาส 2 ปีนี้ กำไรสุทธิเติบโต 35.67% เป็น 3,438 ล้านบาท จาก 2,534 ล้านบาท งวด 6 เดือน มีกำไร 6,633 ล้านบาท เติบโต 24.77%

บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) กำไรสุทธิไตรมาส 2 กระโดดไป 71.94% มาที่ 1,054.46 ล้านบาท จาก 613.44 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือน กำไรบวกไป 121.57% เป็น 2,115.50 ล้านบาท จาก 954.76 ล้านบาท

บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ก็ไม่น้อยหน้า ไตรมาส 2 กำไรโต 50.10% เป็น 2,033 ล้านบาท จาก 1,354 ล้านบาท งวด 6 เดือน กำไร พุ่ง 45.10% เป็น 4,089 ล้านบาท จาก 2,817 ล้านบาท

แบงก์ที่มีกำไรตามตลาดคาดการณ์ คือ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โชว์ตัวเลขกำไร 1,848 ล้านบาท ดีขึ้น 10.92% ในไตรมาส 2 และ 3,644 ล้านบาท ดีขึ้น 6.24% ในงวด 6 เดือน

ส่วน บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) กำไรสุทธิไตรมาส 2 ลดลง 51.26% เหลือ 233 ล้านบาท และงวด 6 เดือน ลดลง 28.22% เหลือ 745 ล้านบาท

ในไตรมาส 2 ปีนี้ มีเพียง 2 แบงก์ใหญ่ที่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง คือ KBANK และ SCB

โดย KBANK ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 516 ล้านบาท หรือ 5.53% เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ

ขณะที่ SCB มีการตั้งสำรองจำนวน 10,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกและเงินฟ้อระดับสูง

สะท้อนว่าสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังทรงตัว ดังนั้นการตั้งสำรองหนี้จึงยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่สำรองสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท

KTB กลายเป็นแบงก์ที่โดดเด่น 7 โบรกเกอร์ ต่างพากันแนะนำ “ซื้อ” และปรับเป้าหมายอัพราคาขึ้นถ้วนหน้า โดยมีราคาเฉลี่ย 17 บาท ค่า P/E 7.5 เท่า มี P/BV 0.6 เท่า จากสูงสุด 18.20 บาท และต่ำสุด 15 บาท เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง อ้างอิงการเติบโตของทั้งสินเชื่อรายย่อยและองค์กร ปรับราคาเป็น 17.90 บาท, บล.เอเซีย พลัส ให้ 18 บาท, บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ 18.20 บาท

ความโดดเด่นของ KTB มาจากแรงสนับสนุนของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งกลายเป็นแอปฯ ขวัญใจมหาชน มียอดการใช้มากกว่า 34 ล้านคน จากการเข้าไปมีส่วนร่วมให้บริการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล การจองหุ้นไอพีโอที่นักลงทุนสนใจ และแอปฯ นี้ยิ่งฟีเวอร์ไปกันใหญ่ เมื่อถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาราคาหวยแพง ด้วยการเปิดขายหวยออนไลน์ผ่าน “เป๋าตัง”

เช่นเดียวกับ TTB ที่มี 10 โบรกเกอร์ แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายเฉพาะ 1.45 บาท มีค่า P/E 9.3 เท่า P/BV 0.5 เท่า โบรกเกอร์ให้ราคาสูงสุด 1.60 บาท ต่ำสุด 1.44 บาท ในมุมมองของบล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่างบไตรมาส 2 สูงกว่าคาด คุณภาพสินเชื่อยืดหยุ่นดี ด้วยอัตราส่วน NPL ลดลง และมีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ที่แข็งแรงเพียงพอรับมือกับความไม่แน่นอนได้ จึงคาดว่ากำไรสุทธิทั้งปีนี้จะเติบโต 35% เป็น 14,153 ล้านบาท ให้ราคาเป้าหมาย 1.53 บาท

ส่วนกลุ่มแบงก์ครึ่งหลังของปี 2565 บรรดาโบรกเกอร์มองว่าทิศทางผลประกอบการของแบงก์ในระยะข้างหน้ายังส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง จากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ดังนั้นจึงน่าจะเห็นแบงก์ต่าง ๆ ทยอยปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ แต่อาจไม่ได้ขึ้นหมดทุกสินเชื่อ เพื่อลดผลกระทบต่อลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทบทวนตัวเลขคาดการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 มาที่ 5.0% (ภายใต้กรอบ 4.0-5.5%) จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนมีนาคม ที่ 4.5% เนื่องจากการเบิกใช้สินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่องของภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะมีแนวโน้มความต้องการสินเชื่อต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

พร้อมทั้งประเมินแนวโน้มสัดส่วน NPL ในปี 2565 คาดการณ์ไว้ในกรอบ 2.95-3.05% ซึ่งสะท้อนการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทั้งปีนี้กำไรกลุ่มแบงก์คาดว่าจะเติบโตได้ระดับ 9% หรือ 2 แสนล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่สำรองทั้งปีคาดอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ลดลงหากเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 2.1 แสนล้านบาท ส่วนกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการเลิกจำกัดแบงก์จ่ายเงินปันผล คาดว่าปีนี้จะทำให้เงินปันผลของแบงก์กลับมาเพิ่มขึ้นได้ เฉลี่ยอยู่ที่ 3-8%

หลังจากลุ้นตัวเลขกำไรไตรมาส 2 ของกลุ่มแบงก์แล้ว จากนี้ไปก็ต้องมาลุ้นกำไรบริษัทจดทะเบียนนอกกลุ่มแบงก์กันต่อ

Back to top button