พาราสาวะถี

“ผมเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ไม่สามารถปรับ ครม.ได้ ต้องรอให้การตัดสินออกมาก่อน หากนายกฯ (ประยุทธ์) อยู่ต่อ นายกฯ ก็จะมาทำเอง”


ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับการไขก๊อกพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยของ นิพนธ์ บุญญามณี เพื่อที่จะไปต่อสู้คดีซึ่ง ป.ป.ช.นำตัวไปส่งฟ้องปมไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์สมัยนั่งเป็นนายก อบจ.สงขลา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวานนี้ (5ก.ย.) ขณะที่ในวันที่ 14 กันยายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีนัดลงมติวินิจฉัยกรณีความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีของนิพนธ์หรือไม่ด้วยเช่นกัน เพราะคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นรัฐมนตรีที่ถูกดำเนินคดีลักษณะนี้ก็จะใช้วิธีลาออกสร้างบรรทัดฐานกันไว้อยู่แล้ว

ไม่ใช่เรื่องหนักใจสำหรับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคเก่าแก่ เพราะจะเลือกใครมาเป็นแทนกับระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลอีกไม่กี่เดือนนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปัญหาหนักอกกลับจะไปตกอยู่ในการตัดสินใจของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เมื่อมีเก้าอี้ว่างถึง 3 ตำแหน่งรวมของเดิมที่ถูกปลดไปก่อนหน้านั้น 2 รายจากพรรคสืบทอดอำนาจ ขณะที่รายของ กนกวรรณ วิลาวัลย์ ที่ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ ท้ายที่สุดพรรคภูมิใจไทย ก็น่าจะเลือกใช้วิธีเดียวกันกับประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม รักษาการนายกฯ ยืนยันมาแล้วว่า “ผมเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ไม่สามารถปรับ ครม.ได้ ต้องรอให้การตัดสินออกมาก่อน หากนายกฯ (ประยุทธ์) อยู่ต่อ นายกฯ ก็จะมาทำเอง” ไม่เพียงเท่านั้นยังย้ำด้วยว่าในส่วนของพรรคสืบทอดอำนาจก็จะไม่มีการปรับเช่นกัน ทางการเมืองคงจะเชื่อตามนั้นเสียทีเดียวไม่ได้ อะไรก็ไม่แน่นอน ทุกอย่างพลิกผันได้ตลอดเวลา แต่ดูเหมือนว่าปมความเป็นนายกฯ 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอาจจะไม่ต้องใช้เวลารอศาลรัฐธรรมนูญนานอย่างที่คาดหมายกันไว้

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายนนี้ เพื่อพิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ไม่มีการนัดประชุมมาก่อน คงเป็นไปตามรายงานข่าวที่ยืนยันนั่นแหละว่า ศาลได้รับคำชี้แจงของพยาน 3 ปากเรียบร้อยแล้ว คือคำชี้แจงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ผู้ถูกร้อง มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. และ ปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ.

ทั้งนี้ การนัดประชุมในวันดังกล่าวเพื่ออภิปรายคำชี้แจงและหลักฐานต่าง ๆ ว่า “สิ้นข้อสงสัยเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วหรือไม่” หากยังไม่สิ้นข้อสงสัย ต้องแสวงหาหลักฐานและพยานเพิ่มเติมต่อไปหรือไม่ หากสิ้นข้อสงสัยจะนัดลงมติวินิจฉัยได้เลย แน่นอนว่า การนัดลงมติวินิจฉัยนั้น เมื่อไม่มีข้อสงสัยใด ๆ แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 8 กันยายนนี้ได้ทันที ซึ่งก็มีเพียงแค่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะได้ไปต่อหรือไม่ก็เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปดูเอกสารคำชี้แจงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญนั้น ที่มีเนื้อหาประกอบคำร้องรวมกว่า 30 แผ่น สิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญที่ วิษณุ เครืองาม บอกว่าตรงกับใจของตัวเองก็คือ การนับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีไม่ควรนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งตรงนี้น้ำหนักที่จะนำมาประกอบคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญถ้าไม่นับอายุความเป็นนายกฯ ย้อนหลังไปปี 2557 คือคำชี้แจงของมีชัยและปกรณ์

ถ้ามีการนำคำชี้แจงของประธานและเลขาฯ กรธ.มาอธิบายทั้งหมด คนก็จะนำไปเปรียบเทียบกับบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญต่อมาตราที่เป็นปัญหา ถ้าจำกันได้มีชัยเคยบอกไว้ว่ามีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนการตีความเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่โดยตรง แต่การย้อนกลับไปขอความเห็นผู้ร่างเพื่อนำมาสู่การตีความเป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าขีดเส้นใต้ ซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อคราวการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว

อย่างที่บอกไปวันก่อน การยื่นคำชี้แจงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพร้อมกับการยืนยันไม่ควรนับอายุความเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นการประกาศตัวชัดเจนว่าขอไปต่อ เพราะกลไกที่วางแผนกันมานั้นไม่ใช่เพื่อที่จะมาหยุดแค่ได้ทำหน้าที่หลังการเลือกตั้งไม่ครบสมัยเท่านั้น ยิ่งเห็นการให้อำนาจ ส.ว.ลากตั้งสามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก ก็เท่ากับสองสมัยของสภาผู้แทนราษฎร มันเป็นตัวบ่งชี้อยู่แล้วว่าเขาอยากอยู่ยาว

ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าว ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจ การตะเกียกตะกายยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ คือใบเสร็จยืนยันว่าไม่ยอมหยุด อยากอยู่ต่อ ไม่รู้จักพอ ไม่ฟังเสียงประชาชน แม้กฎหมายให้สิทธิ์ต่อสู้คดี แต่ถ้ารู้จักพอต้องจบ ที่พูดอยู่ตลอดว่ารักชาติ เสียสละมาเหนื่อยทั้งที่ไม่อยากเป็นนายกฯ เมื่อเจตนาเลี่ยงบาลี หาช่องอภินิหารทางกฎหมายนับเวลาไปต่อแบบนี้ก็ไร้ราคา

มีประเด็นหนึ่งที่ณัฐวุฒิเรียกร้องและคิดว่าน่าจะตรงใจกับคนไทยจำนวนไม่น้อย เนติบริกรทีมกฎหมายทั้งหลายที่สุมหัวกัน เมื่อทำคำชี้แจงและยื่นศาลรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ควรตั้งโต๊ะแถลงเรื่องง่าย ๆ ต่อประชาชนด้วยว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เป็นนายกฯ มาแล้วกี่ปี ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ ก็ไม่ควรทำคำชี้แจงใด ๆ แต่คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเขาได้ชี้แจงจนศาลนัดพิจารณากันด่วนจี๋ไปเรียบร้อย อาจเป็นความหวังดีที่ว่าประเทศไม่ควรมีรักษาราชการแทนนายกฯ นานเกินไป

ขณะเดียวกัน มีการตั้งคำถามที่ไม่ใช่การยียวนแต่มันชวนให้คิดอยู่ไม่น้อย เมื่อเข้าไปดูทำเนียบนายกฯ ในเว็บไซต์ thaigov.go.th ระบุชัดว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ คนที่ 29 เข้ารับตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ถึง 9 มิถุนายน 2562 และครั้งที่สอง 9 มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่าเมื่อปี 2557 ไม่ควรนับเป็นอายุการเป็นนายกฯ นั้น แล้วที่เข้ามารับตำแหน่งจะเรียกว่าอะไร ฟังดูเหมือนอาจจะเอาสีข้างเข้าถู แต่ถ้าไปดูมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งชัดแจ้ง ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

Back to top button