GPSC ต้นทุนลด-ค่า Ft พุ่ง ดันกำไรงาม

GPSC เรือธงด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. เปิดงบไตรมาส 4/66 พลิกมามีกำไรสุทธิ 478 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ


คุณค่าบริษัท

ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เรือธงด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. เปิดงบไตรมาส 4/2566 พลิกมามีกำไรสุทธิ 478 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 436 ล้านบาท และมีรายได้จากการดำเนินงาน 18,319 ล้านบาท ลดลง 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 34,839 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยค่า Ft ที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้น ขณะที่ราคาต้นทุนพลังงานลดลง ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าปริมาณจากการขายไอน้ำลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงของลูกค้าอุตสาหกรรมบางราย

ประกอบกับไตรมาส 4/2566 มีการรับรู้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งได้รับจากการประกันภัยของโรงไฟฟ้าเก็คโค-วัน และโรงไฟฟ้าศรีราชา หลังหักค่าใช้จ่ายภาษีและส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม จำนวน 432 ล้านบาท ขณะที่มีการบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโกลว์ เอสพีพี 2 หลังหักค่าใช้จ่ายภาษี จำนวน 199 ล้านบาท จากรายการสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานของโรงไฟฟ้า Glow SPP2 เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมสิ้นสุดอายุ

หนุนให้ผลการดำเนินงานปี 2566 มีกำไรสุทธิ 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 314% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 891 ล้านบาท และมีรายได้จากการดำเนินงาน 90,326 ล้านบาท ลดลง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 123,685 ล้านบาท

กำไรปี 2566 ที่ปรับตัวสูงขึ้น มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตที่มุ่งเน้นการเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) อยู่ในระดับที่ดี และผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยค่าไฟฟ้าที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ปรับตัวสูงขึ้น ตามลำดับ

สำหรับผลประกอบการในปี 2567 ถูกมองว่าจะเติบโตได้ต่อ มีปัจจัยสนับสนุนจากค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และคาดงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 สูงขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 4.25-4.26 บาทต่อหน่วย

และ 2)ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติลดลง คาดทั้งปี 2567 เฉลี่ยที่ 350-380 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 400-450 บาทต่อล้านบีทียู

ก็สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อ GPSC มากขึ้น โดย บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดว่ากำไรปี 2567 จะเติบโต 25% จากปีก่อน หนุนโดยต้นทุนก๊าซลดลงจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ (Pool Gas) และราคา Pool Gas ลดลงตามสัดส่วนก๊าซจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้นและราคา LNG ตลาดโลกลดลง

ขณะที่ คาดค่า Ft จะทรงตัวระดับเดิมกับช่วงม.ค.-เม.ย. ตลอดทั้งปี ทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีนี้ลดลงจากปีก่อน ด้วยอัตราต่ำกว่าต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลง ซึ่งจะช่วยให้มาร์จิ้นของ SPP เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจะเพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ตามปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น, Avaada จากกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD เพิ่มขึ้น และความเข้มแสงเพิ่มขึ้น และจาก CXFD ตามการติดตั้งกังหันลมเพิ่มขึ้น

ด้านบล.ฟิลลิป ระบุว่า ทางฝ่ายยังคงมุมมองการฟื้นตัวในไตรมาส 1/2567 ของ GPSC จากปัจจัยด้านค่าไฟฟ้า Ft ที่จะปรับขึ้นในงวดม.ค.-เม.ย. 2567 รวมถึงราคาก๊าซฯ ที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ทางฝ่ายมองว่าผลประกอบการจะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากปัจจัยลบที่ลดลงและรับรู้ไปแล้ว

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น GPSC ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 40.46 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 17.57 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาดหลายเท่า สอดคล้องกับ P/BV ที่ระดับ 1.41 เท่า ก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.34 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 59.61 บาท จากราคาต่ำสุด 46 บาท และราคาสูงสุด 70 บาท

Back to top button