ISETAN รีเทิร์นไทย..!?

หลังปรากฏข่าวสารแพร่สะพัดตามสื่อโซเชียลว่า ISETAN กำลังรีเทิร์นประเทศไทยอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสัญญาเช่ากับ CPN


หลังปรากฏข่าวสารแพร่สะพัดตามสื่อโซเชียลว่า ISETAN กำลังรีเทิร์นประเทศไทยอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสัญญาเช่ากับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา ทว่าการกลับคืนสู่ไทยครั้งนี้ ISETAN มิได้ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล (ของตระกูลจิราธิวัฒน์) เหมือนในอดีต แต่เป็นการร่วมกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ของตระกูลสิริวัฒนภักดี) ผ่านโครงการ ONE BANGKOK ด้วยพื้นที่ 4,600 ตารางเมตร

ล่าสุดช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โครงการ ONE BANGKOK เมืองสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ ที่พัฒนาโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT (ในกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) ประกาศความร่วมมือกับบริษัท อิเซตัน มิตซูโคชิ โฮลดิ้งส์ จำกัด กลุ่มบริษัทห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

การร่วมทุนที่ว่าแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ การพัฒนาและบริหารจัดการมิตซูโคชิ ซูเปอร์มาร์เก็ต-ฟู้ดฮอลล์ และการร่วมลงทุนอาคารสำนักงานวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 เพื่อเนรมิตการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและไลฟ์สไตล์ระดับโลก ที่จะช่วยดึงดูดนักธุรกิจชั้นนำ นักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

จุดเด่นคือซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ดฮอลล์..สไตล์ “เดปาจิกะ” ตามแบบฉบับ ISETAN ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของห้างสรรพสินค้าชั้นนำของญี่ปุ่น ด้วยพื้นที่ 4,600 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนชั้น B1 วัน ส่วนของแบงค็อก รีเทล โซน Parade ภายใต้แนวคิด The Rhythmic Experience กับจังหวะการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่

ส่วนที่มาของสไตล์ “เดปาจิกะ” คือห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นชั้นใต้ดิน จะเป็นพื้นที่ขายอาหารต่าง ๆ ที่ถูกเรียกกันว่า “เดปาจิกะ” ที่เป็นส่วนผสมระหว่างคำว่า “เดปาโต” ที่หมายถึงห้างสรรพสินค้า  ผนวกเข้ากับคำว่า “จิกะ” ที่หมายถึงชั้นใต้ดินนั่นเอง

โดย “เดปาจิกะ” ของญี่ปุ่นเป็นแหล่งบันเทิงเหมือนเป็น “สวนสนุกแห่งอาหาร” สินค้าที่ขายในตลาดแบบนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือโซนที่ขายอาหารปรุงสำเร็จประจำวัน และโซนที่ขายขนมและของกินเล่น

นอกจากนี้มีการขายผักและปลาในโซนของสดด้วย ร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ ที่เรียงรายอยู่มีอาหารหลากหลาย ทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารตะวันตกและอาหารจีน จึงทำให้บริเวณ “เดปาจิกะ” ได้อารมณ์เกือบจะเหมือนกับตลาดเลยก็ว่าได้ โดยจะได้กลิ่นหอมกรุ่นของขนมปังอบใหม่ที่ลอยมาจากร้านเบเกอรี่ และได้ยินเสียงของ “เกี๊ยวซ่า” ที่ดังมาจากอีกโซน และบางร้านมีตัวอย่างอาหารให้ลองชิมอีกด้วย

สำหรับ ISETAN เคยปิดตำนานถอยทัพกลับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 63 ด้วยการไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN บนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (ราชประสงค์) อีกต่อไป

หลังจาก ISETAN ที่เปิดกิจการในประเทศไทย มาเป็นเวลา 28 ปี (นับตั้งแต่ปี 2535) แต่ด้วยตัวเลขผลประกอบการบริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขาดทุนสุทธิกว่า 207 ล้านบาท ช่วงปี 2562 หลังจากช่วงปี 2560-2561 ประคองตัวเลขกำไรสุทธิไว้ได้ที่ระดับ 12 ล้านบาท และ 25 ล้านบาท ตามลำดับ และด้วยตัวเลขอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA) ที่แคบบางเฉลี่ยเพียง 1-2% เฉกเช่นอัตราส่วนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เฉลี่ยเหลือเพียง 3-7% เท่านั้น

ส่วนต้นกำเนิดของ ISETAN (อิเซตัน) คือห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ที่แขวงชิโยดะ โดย Tanji Kosuge มีสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกรุงเทพฯ, จี่หนาน, กัวลาลัมเปอร์, สลังงอร์, เซี่ยงไฮ้, สิงคโปร์, เทียนจิน, ฮ่องกง, ลอนดอน และเวียนนา และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) อิเซตันและมิตสึโคชิ ถูกรวมกิจการภายใต้บริษัท อิเซตันมิตสึโคชิโฮลดิ้ง จำกัด

จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการ “หวนคืนสังเวียนการตลาด” ในประเทศไทยครั้งนี้ จะช่วยชะล้างความบอบช้ำในอดีตได้หรือไม่.!? แต่ที่ชัดเจนคือ “เมกะเทรนด์อาหาร” มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว..!!!

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button