AMATA การเงินแข็งแกร่ง หุ้นพื้นฐานเด่นปี 62

AMATA การเงินแข็งแกร่ง หุ้นพื้นฐานเด่นปี 62 ยอดขายที่ดินเพิ่มก้าวกระโดด ธุรกิจนิคมฯในเวียดนามหนุนการเติบโตระยะยาว แนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 26 บาท


คุณค่าบริษัท

ผ่านไปแล้ว 1 ไตรมาส พบว่า บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA มียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมช่วงไตรมาส 1/2562 ราว 127 ไร่ เพิ่มก้าวกระโดดจาก 25 ไร่ในช่วงไตรมาส 1/2561

สำหรับยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแบ่งเป็นยอดขายที่ดินในอมตะนคร 3 ไร่ ขณะที่อมตะซิตี้ 79 ไร่ และไทย-จีน 45 ไร่

อย่างไรก็ตามแต่ยอดขายอ่อนลงจากไตรมาส 4/2561 ที่ 644 ไร่ เพราะในช่วงไตรมาส 4 ในปีก่อนนักลงทุนจีนจะเข้ามาซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อหลบภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งนี้บริษัทมีที่ดินพร้อมขายและรอการพัฒนาในพื้นที่ EEC สูงถึง 1 หมื่นไร่

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 มี Backlog รอโอน 3,610 ล้านบาท (98% เป็นของไทย และ 2% เป็นของเวียดนาม) จะรับรู้รายได้ในปี 2562 ไม่น้อยกว่า 60%

ดังนั้น ทาง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดว่ากำไรสุทธิปี 2562 จะเติบโตก้าวกระโดด 52% เพราะ Core Profit ขยายตัวดี และไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษ ซึ่งในไตรมาส 4/2561 มีค่าใช้จ่ายพิเศษให้กับรัฐบาลเวียดนาม 222 ล้านบาท

บริษัทมีความมั่นคงจากรายได้ค่าเช่าและสาธารณูปโภคยังเป็นสัดส่วนสูง [คาดปี 2562 จะมีรายได้ประจำ (ค่าเช่า & สาธารณูปโภค) 55% และรายได้ขายที่ดิน 45%] นอกจากนั้นยังมีส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าที่รับรู้เต็มปีในปีนี้เข้ามาช่วยหนุนด้วย

ธุรกิจนิคมฯ ในเวียดนามจะหนุนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท  ซึ่ง AMATA มีนิคมฯ อยู่ใน 3 เมืองของเวียดนาม คือ เบียนหัว ลองทัน และฮาลอง

ผลดังกล่าวยกให้ AMATA เป็น 1 ในหุ้นพื้นฐานเด่นของปี 2562

เนื่องจาก 1) ธุรกิจนิคมฯ มีโมเมนตัมดีต่อในปีนี้ และเติบโตได้ในระยะยาว, 2) บริษัทมีที่ดินใน EEC จำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการลงทุนสูง, 3) ธุรกิจมีอัตรากำไรสูงมาก โดยธุรกิจขายที่ดินนิคมฯ และให้เช่ามีอัตรากำไรขั้นต้น 60-69%, สาธารณูปโภค 30-33% และมีอัตรากำไรสุทธิ 23-30% และ 4) Valuation จูงใจ โดยราคาหุ้นปัจจุบันยังต่ำกว่า NAV ที่ 37 บาทต่อหุ้นอย่างมาก

ส่วนของฐานะทางการเงินของ AMATA ค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากถึง 10,290.91 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนเพียง 3,866.22  ล้านบาท ได้ค่า CURRENT RATIO อยู่ที่ระดับ  2.66 เท่า สะท้อนว่า สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทมีมากจนเกินความจำเป็นเสียด้วยซ้ำ

ส่วนปัญหาหนี้สินของบริษัทยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แม้ว่าบริษัทมีหนี้สินรวม 17,452.34  ล้านบาท แต่เป็นหุ้นกู้ระยะยาว 5,991.47 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น 15,569.09  ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 1.12  เท่า แสดงว่า หนี้สินที่บริษัทมีอยู่ไม่น่ากังวล

ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐานให้ไว้ 26 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายวิกรม กรมดิษฐ์ 191,345,900 หุ้น 17.93%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 78,364,417 หุ้น 7.34%
  3. กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล 34,516,900 หุ้น 3.23%
  4. บริษัท อีโตชู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด 25,000,000 หุ้น 2.34%
  5. นายวิฑูรย์ กรมดิษฐ์ 24,769,270 หุ้น 2.32%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  2. นายจักก์ชัย พานิชพัฒน์ รองประธานกรรมการ
  3. นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการ
  4. นายอนุชา สิหนาทกถากุล กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  5. นายนพพันธป์ เมืองโคตร กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button