“ศรีสุวรรณ” จ่อร้องผู้ตรวจการฯ ปม ธปท.กู้เงิน 4 แสนล้านอุ้มคนรวยขัด รธน.

“ศรีสุวรรณ” จ่อร้องผู้ตรวจการฯ ปม ธปท.กู้เงิน 4 แสนล้านอุ้มคนรวยขัด รธน.


นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรณีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 2563 เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท มาทำการซื้อตราสารหนี้ของเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่จะไถ่ถอน หรือออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้

โดยอ้างว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้น

ทั้งนี้การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นเสมือนการลักไก่อาศัยสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้น โดยเอาความเสี่ยงและฐานะทางการคลังของประเทศเข้าไปอุ้มเอกชนที่รวยล้นฟ้าอยู่แล้ว และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับให้กระทรวงการคลังต้องนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทอีกด้วย

โดยการซื้อขายตราสารหนี้ของเอกชนหรือของคนรวยนั้น เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติที่ต่างรู้ถึงความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจกันอยู่แล้วตามปกติ แต่การที่รัฐบาลใช้อำนาจออก พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาทให้ ธปท.ไปช่วยอุ้มหนี้เอกชนดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการใช้ ธปท. เป็นเครื่องมือในการผลักภาระขาดทุนของบริษัทเอกชนไปให้เป็นภาระแก่ประเทศชาติ อันจะทำให้ ธปท. ดำเนินการในสิ่งที่นอกเหนือการดำเนินนโยบายการเงินและวัตถุประสงค์ของ ธปท. ตามของเขตของกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ม.172 ประกอบ ม.140 บัญญัติให้อำนาจรัฐบาลออกพระราชกำหนดได้ก็แต่เฉพาะเป็นกรณีฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ซึ่งเอกชนที่มีตราสารหนี้ต่าง ๆ สามารถที่จะหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ ได้อยู่แล้ว โดยไม่จำต้องให้ ธปท.ออกหน้ามาดำเนินการ ซึ่งเป็นที่ข้อครหาว่า รัฐอาศัยสถานการณ์โควิด-19 กู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาช่วยอุ้มคนรวย โดยใช้ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับมาบังหน้านั่นเอง ขณะที่การจ่ายเงินช่วยคนจน 5,000 บาท กว่าจะได้แต่ละคนนั้นแสนยากเข็ญ หลายรายต้องหอบสังขารไปร้องเรียนหรืออุทธรณ์ที่หน้ากระทรวงการคลัง ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามแต่เหตุผลของรัฐที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ แต่กลับคนรวยกลับอุ้มกันง่ายๆ โดยไม่ละอาย

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมฯจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้ ธปท.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่ออุ้มคนรวยนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.172 ประกอบ ม.144 หรือไม่ โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.63 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการชี้แจงว่า การจัดตั้งกองทุน BSF เป็นมาตรการดูแล และมีเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นการลงทุนจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม สหกรณ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ และประกันสังคม รวมกว่า 70% ของตราสารหนี้ทั้งหมด

ขณะที่มีนักลงทุนต่างชาติมีเพียง 0.2% หรือมูลค่า 9 พันล้านบาท ของยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดเท่านั้น

Back to top button