แล้ว AOT จะเหลืออะไร

เกิดอะไรขึ้นกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กันเนี่ย! ที่โบรกเกอร์เกือบทุกสำนักทั้งไทยและเทศ ต่างพร้อมใจกันปรับคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” และหั่นราคาเป้าหมายลงมาฮวบฮาบ ซึ่งบางสำนักหั่นราคาป่นปี้ลงมา 55% ก็มี


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

เกิดอะไรขึ้นกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กันเนี่ย! ที่โบรกเกอร์เกือบทุกสำนักทั้งไทยและเทศ ต่างพร้อมใจกันปรับคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” และหั่นราคาเป้าหมายลงมาฮวบฮาบ ซึ่งบางสำนักหั่นราคาป่นปี้ลงมา 55% ก็มี

บล.ทิสโก้ ปรับลดเป้าหมายจาก 69 บาทเป็น 64 บาท บล.ไทยพาณิชย์ ปรับลดเป้าหมายจาก 67 บาทเป็น 63 บาท  มอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจระดับโลก หรือบริษัทหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนและที่ปรึกษาทางการเงิน ปรับลดเป้าหมายจาก 59 บาทเหลือ 40 บาท

บล.กสิกรไทย ปรับลดเป้าหมายจาก 70.50 บาทเป็น 45.50 บาท ทั้งยังได้เรียกร้องให้มีบรรษัทภิบาลจากกรณีเปลี่ยนเงื่อนไขเยียวยาคิง เพาเวอร์ โดยไม่เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น

คงมีแต่บล.เครดิต สวิสฯ เท่านั้น ที่มองโลกสวย คงมุมมอง ซื้อ” หุ้น AOT และคงเป้าราคาไว้ที่ 63 บาท เนื่องจากเห็นว่าการให้ส่วนลดเพิ่มครั้งนี้ยังดีกว่ายกเลิกสัญญากับคิง เพาเวอร์

หุ้น AOT มีความหมายกับตลาดหุ้นไทยมากนะครับ เคยมีมูลค่าตลาดรวมหรือมาร์เก็ต แคป เกิน 1 ล้านล้านบาท ตอนราคา 76 บาท แซงหน้าปตท.เป็นอันดับ 1 ของตลาดด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อราคาหุ้นลงมาใต้ระดับ 50 บาท มูลค่าตลาดก็ลดลงมาในราว 7.32 แสนล้านบาท

การปรับตัวขึ้นลงของราคาหุ้นและมูลค่าตลาดรวมของ AOT จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการขึ้นลงของตลาดหุ้นไทยเป็นอันมาก

หุ้น AOT เป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นมากถึง 74,529 คน เคยได้รับรางวัลหุ้นขวัญใจมหาชนสูงสุดที่จัดโดยนสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ และรับรางวัลหุ้นขวัญใจมหาชนสาขากิจการขนส่งฯ มาไม่น้อยกว่า 3 ปี

หุ้น AOT ยังมีนัยสำคัญต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยก็คือเป็น หุ้นหลบภัยของนักลงทุนรายย่อย” หรือ “Safe Heaven” ที่อพยพหลบหนีภัยจากความปั่นป่วนของราคาหุ้นปตท.มายังหุ้นรัฐวิสาหกิจเช่นกันที่มีความมั่นคงสูงจากการประกอบธุรกิจผูกขาด และความเติบโตด้านการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศ

แต่พอโควิดมา น่านฟ้าปิด รายได้ AOT ทั้งแบบแอร์โรว์-นอน แอร์โรว์ หดหาย สถานะ “หุ้นหลบภัย” ของ AOT ก็เกิดการแปรเปลี่ยนจากกิจการที่ถดถอยลง

บอร์ด AOT มีมติผ่อนผัน บริษัทคิง เพาเวอร์ ไม่ต้องใช้เกณฑ์ “มินิมั่ม การันตี” เป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่

เม.ย. 63-เม.ย. 65

ความหมายก็คือ ให้ใช้ส่วนแบ่ง 20% จากรายได้ โดยไม่ต้องมีการประกันรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งหากเกณฑ์ส่วนแบ่งรายได้สูงกว่าประกันรายได้ขั้นต่ำประมาณ 15,400 ล้านบาท ก็ไม่ต้องใช้เกณฑ์ประกันฯ แต่หากส่วนแบ่งรายได้ต่ำกว่า ก็ต้องนำเกณฑ์ประกันฯ มาใช้

หาก AOT ผ่อนผันกันแค่ 2 ปีก็คงไม่เกิดเรื่องราวอะไร แต่นี่ยังมีการแก้สัญญาที่เสมือนจะล้มล้างสัญญาเดิมในเรื่องของมินิมั่ม การันตีในเวลาต่อมาอีก

นั่นคือ ตามสัญญาใหม่ กลุ่มคิง เพาเวอร์ จะจ่ายมินิมั่ม การันตี ก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับมาใช้งานปกติภายในปี 2565

เกณฑ์การกลับมาใช้งานปกติตามสัญญาใหม่ ก็คือ จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 27% จากจำนวนผู้โดยสารในปี 2562 ที่จำนวน 52 ล้านคน

เกณฑ์เพิ่มขึ้น 27% ของผู้โดยสาร 52 ล้านคนก็คือต้องมีผู้โดยสาร 66 ล้านคนนั่นแหละ ถึงจะใช้เกณฑ์มินิมั่ม การันตี

นั่นก็หมายถึงหากตัวเลขยังกลับมาไม่ถึงเกณฑ์ เงื่อนไขใหม่อนุญาตให้คิง เพาเวอร์ จ่ายค่าสัมปทานแค่ตามจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง

เช่นถ้ามี 30 ล้านคน ก็เอาไปคูณกับค่าเฉลี่ยต่อหัว (Sharing per Head) ที่ 233.40 บาท หรือเท่ากับ AOT จะได้ค่าตอบแทนในส่วนงาน “ดิวตี้ ฟรี” ที่สุวรรณภูมิเพียง 7 พันล้านบาทเศษ ๆ จากที่ควรได้อย่างต่ำที่สุด คือ 1.54 หมื่นล้านบาท

ยังไงล่ะครับ! การคิด “มินิมั่ม การันตี” แบบใหม่นี้ มันพิสดารดีไหมเล่า?

นักวิเคราะห์ตามสำนักโบรกเกอร์ทั้งหลายก็เอาไปคำนวณตัวเลขผู้โดยสารตาม ๆ กัน และก็เห็นพ้องต้องตรงกันว่า ถ้าจะรอให้จำนวนผู้โดยสารที่สุวรรณภูมิถึง 66 ล้านคน คงเป็นเรื่อง “เป็นไปไม่ได้” แน่นอน

ก็ขนาดปี 62 พีค ๆ ผู้โดยสารก็ยังได้แค่ 52 ล้านคน ฉะนั้น คิง เพาเวอร์ คงได้ “ตีตั๋วเด็ก” ยาวไปถึงสิ้นสุดสัญญาปี 2575 แน่นี่ไง! ถึงได้เรียกว่า สัญญาใหม่ เสมือนล้มล้างสัญญาเก่า

เท่ากับปรับเปลี่ยนบริบทใหม่ ที่คิง เพาเวอร์ เสนอเงื่อนไขมินิมั่ม การันตี จนได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งรายอื่นโดยสิ้นเชิง และก็เป็นมติบอร์ด AOT ที่ไม่ต้องผ่านมติที่ประชุม “ผู้ถือหุ้น” ด้วย เพราะเป็นเพียงแค่การบริหารสัญญา

“มอร์แกน สแตนลีย์” ประเมินไว้ว่า ทั้งรายได้และกำไรของ AOT จะตกต่ำไปอย่างน้อยจนถึงปี 2575 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สัมปทานดิวตี้ ฟรี สุวรรณภูมิ หมดอายุพอดิบพอดี

ปัญหาโควิด ใครก็ยอมรับได้กับการผ่อนผัน แต่ก็อย่าได้ฉวยโอกาสถล่มซ้ำจน AOT เหลือแต่กระดูก และหมดสภาพ “หุ้นหลบภัย” ของนักลงทุนอีกต่อไปเลย

Back to top button