ดัชนีอุตฯ ต.ค. ขยับขึ้น 6 เดือนติด รับอานิสงส์กำลังซื้อเพิ่ม หนุนภาคผลิตฟื้น

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ต.ค. ขยับขึ้น 6 เดือนติด รับอานิสงส์กำลังซื้อเพิ่ม หนุนภาคผลิตฟื้น "สภาอุตฯ" แนะรัฐรักษามาตรฐาน คุม "โควิด"-เร่งรัดเบิกจ่ายจัดซื้อจัดจ้าง เสริมสภาพคล่องเอกชน


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ระดับ 86.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.2 ในเดือนก.ย.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพ.ค.63 มีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภคสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่มีความรุนแรงขึ้น หลายประเทศในยุโรปประกาศล็อกดาวน์รอบ 2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งการปิดด่านการค้าชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความล่าช้า

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs บางรายยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากยอดขายสินค้าลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 และยอดขายยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาด นอกจากนี้ สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนด้วย

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,333 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ, อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือนก.ย.63 จากปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออกลดลง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้กิจการประสบปัญหาขาดสภาพคล่องโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. ขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 2. ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากการตรวจรับเรียบร้อย เพื่อช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน และ 3. เร่งผลักดันโครงการลงทุนและโครงการก่อสร้างของภาครัฐทุกโครงการที่ได้วางแผนไว้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

Back to top button