ตามคาด! THCOM คว้า “ไลเซนส์” ดาวเทียม 2 ชุด 78.5E-119.5E วงเงิน 800 ล้าน

ตามคาด! THCOM ส่ง “สเปซ เทค อินโนเวชัน” คว้า “ไลเซนส์” ประมูลดาวเทียม 2 ชุด วงโคจร “78.5E-119.5E” วงเงินเฉียด 800 ล้าน ฟาก NT คว้าใบอนุญาตชุดที่ 4 วงโคจร 126E ราคา 9.07 ล้าน ส่วนการชำระค่าประมูลแบ่งจ่าย 3 งวดระยะเวลา 6 ปี จ่ายงวดแรก 10% ในระยะเวลา 90 วัน และใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี


คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้(15 ม.ค.66) ผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม วันนี้มีผู้เสนอราคาประมูลจำนวน 3 ชุด จาก 5 ชุด คือชุดที่ 2, 3 และ 4 ตามที่ กสทช.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า มูลค่ารวม 806,502,650 บาท โดยมีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ  บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชัน จำกัด ซึ่งบริษัทย่อยของ บมจ.ไทยคม (THCOM) , บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

ด้านนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 2 ผู้ชนะประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่ 380,017,850 บาท ชุดที่ 3 ผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่ 417,408,600 บาท และ ชุดที่ 4 ผู้ชนะประมูล ได้แก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ราคาสุดท้ายที่ 9,076,200 บาท

โดยบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ได้เข้าเคาะราคาในชุดที่ 2 แต่ไม่สู้ราคาต่อ สำหรับชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้เสนอราคา

ประธานบอร์ด กสทช. กล่าวว่า การประมูลวันนี้เริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น. และได้สิ้นสุดเวลา 11.36 น. ใช้เวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที หลังจากนี้ บอร์ด กสทช.จะรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะชำระใบอนุญาตงวดแรก 10% ของราคาสุดท้ายภายใน 90 วัน งวดที่ 2 ชำระ 40% ในปีที่ 4 และงวดที่ 3 ชำระ 50% ในปีที่ 6 ทั้งนี้ใบอนุญาตฯ จะมีอายุ 20 ปี

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ภาพรวมการประมูลวันนี้ไม่มีข้อขัดข้อง และการประมูลครั้งนี้ที่เป็นใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมที่รองรับทั้งบรอดแบนด์และบรอดคาสท์ สำหรับชุดที่ 1 และ ชุดที่ 5 ที่ไม่รายใดเสนอราคาประมูล ทางบอร์ด กสทช.จะหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“เป็นการประมูลดาวเทียมครั้งแรกที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาต เดิมมีรายเดียวคือ บมจ.ไทยคม แต่ตอนนี้มีผู้เล่น 2 รายแล้วเราก็ดีใจที่ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว

สำหรับผลการประมูลและรายชื่อผู้ชนะแบ่งเป็น ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5 อี(องศาตะวันออก) และวงโคจร 51อี เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ยุโรป ไม่มีผู้สนใจเคาะประมูล

ชุดที่ 2 ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5อี มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด(บริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)) ราคา 380,017,850 บาท

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5อี และวงโคจร 120 อี ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ผู้ชนะประมูลคือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคา 417,408,600 บาท

ชุดที่ 4 วงโคจร 126อี ผู้ชนะประมูลคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ราคาประมูล 9,076,200 บาท และชุดที่ 5 วงโคจร 142อี ไม่มีผู้สนใจเคาะประมูล

สำหรับขั้นตอนต่อไป บอร์ด กสทช. จะมีการรับรองผลการประมูลอย่างเป็ฯทางการภายใน 7 วัน ส่วนการชำระค่าประมูล จะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวดในระยะเวลา 6 ปี โดยต้องจ่ายงวดแรก 10% ในระยะเวลา 90 วัน และใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี

โดยก่อนหน้านี้นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS คาดว่าไทยคมจะเข้าร่วมประมูล 2 วงโคจร ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นประมูล 360 ล้านบาท และชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นประมูล 397 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงโคจรเดิมที่ไทยคมใช้อยู่ในปัจจุบัน (ไทยคม 4 วงโคจร 119.5E และไทยคม 6-8 วงโคจร 78.5E) และมีโอกาสชนะประมูลสูง

Back to top button