“เทิดศักดิ์-สมศักดิ์” ร่วมสัมมนา “เคล็ดลับจับกลโกงบัญชี”

SET ร่วมกับ IAA จัดสัมมนา “เคล็ดลับจับกลโกงบัญชี และแนวทางคัดกรองหุ้น” ถกมุมมองและการแก้ไขปัญหาจากอาจารย์บัญชี-วาณิชธนกิจ-นักวิเคราะห์ “ณัฐชานนท์-สมศักดิ์-เทิดศักดิ์”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (13 ก.ค. 66)  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ร่วมกับ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน หรือ IAA จัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “เคล็ดลับจับกลโกงบัญชี และแนวทางคัดกรองหุ้น” ผ่านช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน IAA โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์, นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร และนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เข้าร่วมถกมุมมอง

รศ.ดร.ณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความรู้สึกตื่นตัวในการระมัดระวัง เนื่องจากตัวเลขบัญชีอาจมีการตกแต่งได้ ซึ่งเป็นการตกแต่งอย่างมีหลักเกณฑ์ แนะว่าควรมีการสอบทานที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ด้านกระบวนการการตรวจสอบบัญชี มองว่าการกำกับดูแลบริษัทฯ นั้นสำคัญมาก คุณภาพของข้อมูลที่เข้ามาในตลาด แน่นอนว่ากฎของ IPO มีความเข้มงวดอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของการตรวจสอบงบประมาณ สอบทานงบประมาณ และแต่ละบริษัทฯ ต้องมีผู้ตรวจสอบภายใน ซึ่งในกรณีที่พบว่ากำไรของบริษัทฯ นั้นถูกปลอมแปลงมาตั้งแต่แรกก่อนเข้าสู่ตลาดฯ ต้องมองว่าการจัดการกำไร (Earning Management) นั้นทำอย่างไรกันบ้าง มองว่าขั้นตอนนี้สำคัญอย่างมาก

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร กรรมการชมรมวาณิชธนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวในกรณี Backdoor Listing ว่ายังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไร ให้เป็นเรื่องของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.ไปทบทวนเกณฑ์ที่จะเข้าสู่ตลาดฯ โดยหากพูดให้เข้าใจอย่างง่าย คือ เกณฑ์ Backdoor Listing นั้นเป็นการได้มาและจำหน่ายไป ซึ่งสิ่งที่ได้มานั้นยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่ตนเองมีอยู่ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่บริษัทต่าง ๆ ต้องการจดทะเบียนเพื่อให้ธุรกิจของตนเองเติบโต หากมีเกณฑ์อะไรเข้ามาจำกัดทำให้ลดขีดในการแข่งขันลดลง ก็มองว่าเป็นเรื่องที่พิจารณาควบคู่กันไป

ด้านกระบวนการการตรวจสอบของเกณฑ์ IPO มองว่ามีการตรวจสอบที่เข้มงวดอยู่แล้ว โดยกระบวนการการยื่น Filing ก.ล.ต.จะต้องมีการตรวจสอบกระดาษทำการของที่ปรึกษาการเงิน ถัดจากนี้ ต้องมีการ management interview โดยสำนักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ กับทางกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ที่ต้องการจดทะเบียน ผนวกกับผู้ถือหุ้นต้องมีข้อมูลในการพิจารณาจำนวนมาก ซึ่งการตัดสินใจนี้ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าหลังจาก transform เข้าไปในตลาดแล้ว การกำกับดูแลจะเป็นในรูปแบบไหนต่อ นอกจากนี้ ควรสังเกตบริษัทฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชีบ่อย ๆ มองว่าเป็นสัญญาณหนึ่งที่น่าสงสัย อีกทั้งมองว่ากฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและในแง่ของการจัดการ และแนะว่าให้จับตาดูว่ากฎเกณฑ์จะสามารถป้องกันได้มากเพียงใด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การตรวจสอบย้อนหลังในแต่ละรายการของนักวิเคราะห์นั้นมีจำกัด โดยหากมีการประกาศงบประมาณของแต่ละบริษัทฯ ออกมาแล้ว นักวิเคราะห์ต้องมองภาพตัวกิจการก่อนอันดับแรก ว่ามีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นที่มีการปลอมแปลงรายได้ ขอบเขตของทางนักวิเคราะห์คือสามารถทำได้เพียงแค่ตั้งข้อสังเกต ซึ่งบริษัทที่มีปัญหา มองว่าไม่มีนักวิเคราะห์เข้าไปตรวจสอบ

ด้านการกระบวนการตรวจสอบ มองว่าอย่างแรกเลยคือต้องรู้จักบริษัทฯ นั้นให้ดี ไม่ว่าจะซื้อหุ้นอะไรก็ตาม เพราะโอกาสที่จะถูกบีบหรือถูกหลอกนั้นจะมีโอกาสน้อยลง ต่อมาคือกรณีของบริษัทฯ ที่มีการขาดทุนกำไรอย่างมหาศาล แต่กลับพลิกผันขึ้นมาดีได้ ต้องตั้งข้อสังเกตกับบริษัทฯ นั้นให้ดีว่าเกิดจากอะไร ต่อมาคือถ้าหากเห็นการเปลี่ยนแปลงของวิธีการทำบัญชีบ่อย ๆ เปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชี หรือเปลี่ยนแปลง CFO บ่อย ๆ มองว่ามีความน่าสงสัย

Back to top button