“สธ.” เตือน 3 โรคระบาดปี 67 พร้อมแนะแนวทางป้องกัน

“กรมควบคุมโรค” กระทรวงสาธารณสุข พยากรณ์คาดการณ์โรค ปี 67 ชี้ 3 โรคระบาดผู้ป่วยมาก เฝ้าระวังอีก 12 โรค เตือนประชาชนมีไข้กินยาพาราฯ ก่อน ห้ามใช้ยาสเตียรอยด์ หวั่นเสี่ยงอาการรุนแรง พร้อมแนะแนวทางป้องกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 ม.ค. 67 ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการพยากรณ์คาดการณ์โรคปี 2567 ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก จึงมอบให้กรมควบคุมโรคจัดทำชุดข้อมูลและแถลงข่าวเพื่อแจ้งเตือนประชาชนและหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ในการเตรียมรับมือกับโรคที่จะเกิดการระบาดในปีนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.โรคที่คาดว่าระบาดทั่วประเทศและมีผู้ป่วยมากอย่างแน่นอน ได้แก่ 1.โรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ดังนั้นประชาชนต้องเข้าใจ เรียนรู้ และสร้างความตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 649,520 ราย เข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล 38,672 ราย และเสียชีวิต 852 ราย

ทั้งนี้ แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเน้นในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสป่วยรุนแรงได้ โดยปัจจุบันประเทศไทย มีวัคซีนอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) และ ไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) และมีปริมาณเพียงพอต่อการฉีดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ ปีละ 1 เข็ม ส่วนบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ยังสามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.โรคไข้หวัดใหญ่ โดยคาดว่าการระบาดจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. และคาดการณ์ว่าพบผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 346,110 ราย จึงต้องเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีที่จะฉีดปีละ 1 เข็ม ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่เป็นโรคอ้วน, เด็กอายุ 6 เดือนถึง12 ปี, ผู้พิการทางสมอง, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, โรคธาลัสซีเมียและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนการป้องกันนั้นจะเหมือนกับโรคโควิด-19 เพราะเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน โดยการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่

3.โรคไข้เลือดออก โดยในปี 2566 พบผู้ติดเชื้อประมาณ 150,000 ราย ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 2567 จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 276,945 ราย เสียชีวิต 280 ราย ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะพบผู้ติดเชื้อสูงสุดของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 3 เท่าตัว โดยการระบาดจะเริ่มช่วงเดือน เม.ย. และธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกมักระบาด 2 ปีติดต่อกัน ดังนั้น สิ่งที่จะเน้นย้ำกับประชาชนคือ การป้องกันยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว ใช้ทายากันยุง และหากมีอาการไข้สูงลอยควรรีบไปพบแพทย์

“เดิมผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วเสียชีวิตจะพบมากในกลุ่มเด็ก แต่ปัจจุบันพบว่าผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ทำให้ขณะนี้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคของทุกกลุ่มวัยแล้ว โดยการติดเชื้อครั้งแรกอาการอาจจะไม่มาก แต่ถ้ามีการติดเชื้อซ้ำจะมีความรุนแรงสูงมาก ส่วนสาเหตุที่มีการติดเชื้อซ้ำได้เพราะ ไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ ดังนั้นใน 1 ชีวิตเราสามารถติดได้ถึง 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 โรคนี้ที่มีโอกาสเกิดการระบาดสูง จึงค่อนข้างมั่นใจว่าประชาชนสามารถที่จะเจ็บป่วยโรคใดโรคหนึ่ง หรืออาจจะป่วยได้ทั้ง 3 โรคที่เราพยากรณ์ไว้” นพ.ธงชัย กล่าว

สำหรับกลุ่มที่ 2 อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 12 โรค ที่อาจพบผู้ป่วยสูงขึ้น ได้แก่ 1.โรคมือเท้าปาก ที่มีการติดในเด็กเล็ก มีการพยากรณ์ว่าในปี 2567 จะพบผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 61,470 ราย , 2.โรคหัด โดยมีแนวโน้มที่อาจจะสูงมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจริงๆ ควรไม่มีโรคนี้ในประเทศแล้วเนื่องจากเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดังนั้น ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก

โดยวัคซีนป้องกันโรคหัดจะฉีด 2 เข็ม ในเข็มแรกจะฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน และเข็มสุดท้ายฉีดเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน , 3.โรคฝีดาษวานร คาดการณ์ว่าจะพบผู้ติดเชื้อ 394 ราย แม้ตัวเลขจะดูน้อยแต่โรคนี้เป็นโรคใหม่ จึงต้องเฝ้าระวังมากเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทย ทั้งนี้ การติดเชื้อจะพบมากในกลุ่มชายรักชาย แม้เป็นโรคที่ไม่เสียชีวิตและสามารถหายได้ แต่ก็พบว่าผู้ที่เสียชีวิตนั้นเป็นการติดเชื้อร่วมกับโรคเอดส์ที่ไม่ได้รับยาต่อเนื่อง

4.โรคเมลิออยโดสิส หรือ โรคไข้ดิน กลุ่มเสี่ยงอยู่ในกลุ่มเกษตรกรที่ทำไร่ ทำนา การคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 3,400 ราย ฉะนั้น จะต้องเน้นย้ำในเรื่องของการสวมรองเท้าและหลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่าขณะทำการเกษตร , 5.โรคฉี่หนู มักเกิดในพื้นที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วม คาดการณ์ยว่าจะพบผผู้ติดเชื้อ 2,800 ราย ซึ่งโรคนี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย ดังนั้น หากจำเป็นต้องเข้าพื้นที่มีน้ำขังจะต้องใส่รองเท้าบูทป้องกันการโดนน้ำและเมื่อออกมาแล้ว ต้องล้างมือและเท้าให้สะอาด

6.โรคไข้หูดับ ในปี 2566 พบผู้ติดเชื้อรายงานในระบบ 581 ราย เสียชีวิต 29 ราย ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าจะพบผู้ติดเชื้อ 432 ราย อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ เน้นการรับประทานอาหารที่สุก หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ทำจากเนื้อสด , 7.โรคไวรัสซิกก้า เป็นโรคที่เกิดจากยุงลาย ความเสี่ยงคือ หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อเพราะจะทำให้เด็กที่เกิดมามีความพิการทางสมองสูง โดยเมื่อปี 2566 พบผู้ติดเชื้อสะสม 758 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 41 รายและทำให้ทารกมีศีรษะเล็ก 13 ราย

นอกจากนั้น ข้อมูลทางวิชาการยังระบุถึงเพศชายหายจากการติดเชื้อไวรัสซิกก้าแล้ว แต่เชื้อยังสามารถอยู่ในอสุจิได้นานถึง 3 เดือน ต่างประเทศจึงมีคำแนะนำว่าให้งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 3 เดือนดังกล่าว

8.โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ข้อมูลในปี 2566 มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,389 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 2.1 ต่อแสนประชากร สัดส่วนที่พบในเพศชายกับเพศหญิงอยู่ที่ 1:1.6 จึงพบผู้ป่วยเป็นเพศหญิงมากกว่า , 9.โรคซิฟิลิส ที่ปัจจุบันเริ่มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 17,273 ราย นอกจากนั้น ยังพบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชน และเริ่มพบโรคซิฟิลิสที่ถ่ายทอดไปถึงลูกด้วย ดังนั้น จึงต้องรณรงค์มากขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

10.โรคหนองใน ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อทั้งปี 2567 ประมาณ 7,254 ราย โดยเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนกับโรคซิฟิลิส ดังนั้น กรมควบคุมโรค ได้เปิดคลินิกสำหรับโรคทางเพศสัมพันธ์ ชื่อว่า “คลินิกบางรัก” เพื่อรองรับผู้ป่วย , 11.โรคเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อราว 9,366 ราย แนวโน้มทรงตัว เนื่องจากมีการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อและประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องไปรับชุดตรวจในร้านขายยาหรือสถานบริการของรัฐ ปีละ 2 ครั้งละโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเป็นผลบวกก็จะเข้าสู่การรักษาด้วยการใช้ยากิน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นการป้องกันการแพร่โรคไปสู่ผู้อื่น โดยองค์การอนามัยโลกและไทย ตั้งเป้าขจัดโรคเอดส์ให้หมดไปในปี 2573

12.โรควัณโรค เป็นโรคที่ยังอยู่กับคนไทยมาโดยตลอด โดยเป้าหมายจะเหมือนกับการขจัดโรคเอดส์ที่โรคจะต้องหมดไปในปี 2573 ปัจจุบันอัตราการป่วยยังทรงตัวและกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 82,759 ราย

“สิ่งสำคัญของการดูแลตนเองในกลุ่มที่มีอาการไข้ หนาวสั่น ประชาชนควรรับประทานยากลุ่มพาราเซตามอล (Paracetamol) และห้ามใช้ยาในกลุ่มยาที่มีสเตียรอยด์ (Steroid) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้โรครุนแรงมากขึ้น และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเอง เพราะหลายโรคอาการคล้ายกัน หรือบางโรคใช้เวลาฟักตัวนานอย่างวัณโรคนั้น ที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะใช้เวลาในการฟักตัวในร่างกายค่อนข้างหลายปี กว่าจะออกอาการป่วย ฉะนั้น หากพบว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อด้วย” นพ.ธงชัย กล่าว

Back to top button