“คพ.” เตือน “กทม.-ปริมณฑล” รับมือฝุ่น PM2.5 หนักขึ้น 14-17 ม.ค.นี้!

“กรมควบคุมมลพิษ” ชี้กรุงเทพ-ปริมณฑลมีแนวโน้มค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นในวันที่ 14-17 ม.ค. 67 เร่งประสาน “กทม.” จัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นและรณรงค์ให้ร่วมโครงการ “เครือข่าย WFH ลดฝุ่น PM2.5” หวังลดปัญหามลพิษทางอากาศ


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (14 ม.ค. 67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 14-17 ม.ค. 67 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงในหลายพื้นที่ เนื่องมาจากอัตราการระบายอากาศที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงลมสงบ ซึ่งทำให้ฝุ่นสะสมในระดับใกล้ผิวพื้น ประกอบกับแนวลมจะเปลี่ยนจากลมใต้เป็นลมตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกลายเป็นพื้นที่ท้ายลมที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นที่มาจากพื้นที่ใกล้เคียงได้

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า หลังจาก คพ. ได้แจ้งข้อมูลสถานการณ์ และประสาน กทม. ซึ่งได้ดำเนินการเตรียมรับมือโดยยกระดับตรวจเข้มแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภทในพื้นที่ กทม. เพื่อจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนสังกัด กทม. สำหรับเด็กเล็กและเด็กอนุบาลครบ 100% และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เข้าร่วม “เครือข่าย WFH ลดฝุ่น PM2.5” เพื่อให้ทำงานที่บ้านหวังลดการเดินทาง

รวมทั้งเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมแคมเปญ “รถคันนี้ลดฝุ่น” โดยนำรถมาเข้ารับการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง ด้วยโปรโมชั่นส่วนลดราคาจากศูนย์บริการถึง 55% ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบการสะสมฝุ่นใน กทม. ขอให้จังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้ปริมณฑลควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรตามที่ คพ. ได้แจ้งไปด้วย

อีกทั้งกรณีการตรวจพบข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) จำนวนมากที่ประเทศกัมพูชาในช่วงต้นเดือนม.ค จากการติดตามข้อมูล Hotspot ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบจำนวน  Hotspot ในกัมพูชา ระหว่างวันที่ 9มีจำนวน 1,566 วันที่ 10 จำนวน 1,139 จุด และวันที่ 11 จำนวน 1,023 จุด ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบสถานการณ์และได้หารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาแล้ว โดยทางกัมพูชาก็ตระหนักในปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือจาก 5 ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคแม่โขง ให้ช่วยกันป้องกันการเกิดไฟ และงดการเผาในที่โล่ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระหว่างกัน

Back to top button