สปอยล์งบฯ Q3/60 แบบจัดเต็ม! แบงก์ไหน “รูด” แบงก์ไหน “รอด” รู้กันวันนี้!

สปอยล์งบฯ Q3/60 กลุ่มธนาคารพาณิชย์แบบจัดเต็ม! แบงก์ไหน "รูด" แบงก์ไหน "รอด" รู้กันวันนี้!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 3/60 ในช่วงตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยที่ผ่านมาบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็น 2 ธนาคารแรกที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมา

ซึ่งบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/60 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.60 โดยมีกำไรสุทธิ 1.57 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.25 พันล้านบาท ช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 4.57 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันเมือปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3.71 พันล้านบาท

ขณะที่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/60 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.60 โดยมีกำไรสุทธิ 2 พันล้านบาท เติบโต 8.58% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.85 พันล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 6.43 พันล้านบาท เติบโต 5.61% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.09 พันล้านบาท

 

สำหรับธนาคารที่คาดว่าจะประกาศกำไรเติบโตจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนได้แก่ KKP ,BBL, KTB ,TCAP ขณะที่ SCB และ KBANK ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่าแม้จะเข้าสู่ช่วงการรายงานงบธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 3/60 แต่หุ้นธนาคารกลับแข็งแกร่ง และ ยังเดินหน้าทำ new high แม้งบงวดไตรมาส 3/60 ตามคาด คือ TISCO (ราคาเป้าหมาย 93.50 บาท) กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อน  และตามมาด้วย LHBANK (ราคาเป้าหมาย 2.33 บาท) กำไรสุทธิดีกว่าคาด เติบโต 8.8% จากปีก่อน แต่ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน จากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เติบโตโดดเด่น หลักๆ มาจากรายได้ค่านายหน้าจากธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ และการขายกองทุน ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ต่ำกว่าคาด ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิค่อนข้างทรงตัว

สำหรับหุ้น Top Picks ยังชอบ  BBL เพราะนอกจากจะได้รับประโยชน์จากวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่   (CAPEX Cycle) หนุนความต้องการสินเชื่อทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในกรณีนี้ดีต่อ BBL ที่เน้นสินเชื่อรายใหญ่ (Corporate) รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่ตามมาด้วย  ล่าสุด  มีประเด็นบวกใหม่ที่จะหนุนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย คือ การทำสัญญาร่วมมือกับ บริษัท เอไอเอ จำกัด (AIA) ในการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร (Bancassurance) เป็นเวลา 15 ปี นับเป็นผลบวกต่อ BBL โดยตรง เนื่องจาก AIA มีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจประกันฯ เป็นอันดับ 1 อีกทั้งผลิตภัณฑ์ฯ ของ AIA มีความซับซ้อนและหลากหลาย ช่วยหนุนให้รายได้จากธุรกรรม bancassurance รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมที่คาดว่าจะได้รับเงินล่วงหน้าก้อนใหญ่ ในการเป็นช่องทางในการจำหน่ายเบี้ยประกันให้กับ AIA ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้เป็นเวลา 15 ปี คิดเป็นรายได้ ต่อ ไตรมาส น่าจะเป็นหลักหลายร้อยล้านบาท (เทียบกับ TMB ที่เป็นตัวแทนขายประกันให้บริษัท FWD ซึ่งได้รับค่าธรรมเนียล่วงหน้าในการเป็นช่องทางรวม 20000 ล้านบาท ในระยะ 15 ปีข้างหน้า หรือตกเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อไตรมาส เริ่มจากงวดที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก) ประเด็นนี้ยังมิได้รวมไว้ในประมาณการ

และแนะนำสะสมหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง  KKP (ราคาเป้าหมาย 78.50 บาท)  คาดกำไรงวดไตรมาส 3/60 อยู่ที่ราว 1.30 พันล้านบาท เติบโต 9.4% จากไตรมาสก่อน ดีขึ้นจากงวดไตรมาส 2/60 กำไรสุทธิอ่อนตัวเหลือเพียง 1.19 พันล้านบาท  ซึ่งเกิดจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้น  แต่คาดว่าจะลดลงในไตรมาสนี้

โดยรวมคาดกำไรสุทธิปีหน้าเติบโต 15% จากปีนี้ที่ทรงตัว ทั้งยังสามารถคาดหวัง div. yield ปีนี้ได้สูงถึง 8% (คาดจ่ายปันผลงวดผลประกอบการครึ่งปีหลังที่ 4 บาท) จึงแนะนำ ซื้อลงทุน  จึงแนะนำให้สะสมเพิ่ม

ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/60 ของกลุ่มธนาคารจะลดลงจากปีก่อนแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ประมาณการว่ากำไรสุทธิ 8 ธนาคารที่ทำการวิเคราะห์จะมีกำไรสุทธิรวม 42.70 พันล้านบาท (ลดลง 6% จากปีก่อน ขณะที่ปรับขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน) โดย KTB จะมีการเติบโตจากไตรมาสก่อนที่โดดเด่นที่สุดเพราะฐานกำไรไตรมาส 2/60 ต่ำมากจากการตั้งสำรองค่าเผื่อฯสูงมาก หากไม่รวม KTB พบว่ากำไรของกลุ่มจะอยู่ที่ 35.4 พันล้านบาท (ลดลง 4% จากปีก่อน, ลดลง 1%จากไตรมาสก่อน)

ขณะที่ประเมินว่า BBL, TISCO, TCAP จะมีกำไรเติบโตได้จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และจากไตรมาสก่อนคาดการณ์ว่า TISCO และ TCAP น่าจะมีกำไรไตรมาส 3/60 เติบโตดีกว่าเฉลี่ยของกลุ่มอย่างชัดเจน ขณะที่ TMB มีการเติบโตของกำไรก่อนสำรองฯ ที่แข็งแกร่ง แต่กำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายถูกกระทบจากการตั้งสำรองฯสูง

ส่วนแบงค์ใหญ่ BBL จะเป็นธนาคารที่กำไรสุทธิขยายตัวได้ทั้งจากปีก่อนและจากไตรมาสก่อน สำหรับ KBANK และ SCB ประมาณการว่ากำไรไตรมาส 3/60 จะลดลงทั้งจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และจากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ความต้องการใช้สินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้น และคุณภาพสินทรัพย์มีเสถียรภาพขึ้น สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 3/60 คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เติบโตได้ 2.9% จากปีก่อน ส่วน NIM มีโอกาสอ่อนลงหลังธนาคารมีการแข่งขันด้านเงินฝากมากขึ้น การตั้งสำรองฯ มีโอกาสลดลง (หรืออย่างน้อยก็ทรงตัว) สอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ที่เสถียรขึ้น

โดยในปี 60 ธนาคารขนาดเล็กจะมีกำไรเติบโตดีกว่า  ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้สินเชื่อกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่คุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายของธนาคารขนาดใหญ่ แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในแบงค์เล็ก โดย NPL ของ TISCO และ TCAP ลดลงหลังผ่านจุดที่แย่สุดไปแล้ว ทำให้การตั้งสำรองฯต่อสินเชื่อลดลงได้ต่อ

ทั้งนี้ชอบ TISCO มากสุด เนื่องจากที่มี ROE สูง คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นเป็นลำดับ และมีโอกาสเติบโตแกร่งในปี 61 เมื่อรวมธุรกิจรายย่อยของ SCBT เข้ามา รองลงมาเป็น KKP ซึ่งธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนมีโอกาสขยายตัวดี และยังเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลสูงด้วย

ส่วนลำดับสามเป็น TCAP ที่สินเชื่ออยู่ในช่วงฟื้นตัว งบดุลแข็งแรงขึ้น และมี Valuation ที่จูงใจ สำหรับแบงก์ใหญ่ เราให้ KBANK เป็นหุ้นเด่น ด้วยความเป็นผู้นำในดิจิตอลแบงก์กิ้ง มี ROE สูง และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจดีทำให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” SCB ราคาเป้าหมาย 182 บาท/หุ้น โดยคาดกำไรไตรมาส 3/60 ที่ 11,799 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวทั้งจากไตรมาสก่อน และจากปีก่อน โดยสินเชื่ออาจเติบโตได้ไม่โดดเด่น เนื่องจากธนาคารยังต้องระมัดระวังด้านคุณภาพหนี้ ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อย แต่การปรับปรุงระบบภายในทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงต่อเนื่อง เราปรับประมาณการกำไรปี 60 ลง พร้อมปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 182 บาท ถือว่า Upside ยังน่าสนใจ จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”

นอกจากนี้ยังแนะนำ “ซื้อ KBANK เมื่ออ่อนตัว” ราคาเป้าหมาย 224 บาท/หุ้น  โดยคาดกำไรไตรมาส 3/60 ที่ 9,107 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังไม่ชัดเจน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ยังเป็นปัจจัยกดดัน ทั้งนี้เรามีการปรับประมาณการกำไรปี 60 ลงเล็กน้อย เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พร้อมปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 224 บาท ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงก่อนหน้าทำให้ Upside ค่อนข้างจำกัด จึงแนะนำเพียง “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”

ด้าน บล.กสิกรไทย แนะนำ “ซื้อ” TCAP ราคาเป้าหมาย 51 บาท/หุ้น TCAP รายงานเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ว่า TCAP และ TBANK ขายหุ้น 35,487,290 หุ้นหรือคิดเป็น 2.0778% ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วของ MBK (MBK Plc, NR, 20.80 บาท) ในช่วงวันที่ 28 กันยายนถึงวันที่ 9 ต.ค. TCAP ขายหุ้น 1.04% ของ MBK และ TBANK 1.038%หลังจากการทำธุรกรรมดังกล่าว TCAP และ บริษัทย่อยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 19.90 ของหุ้นทั้งหมดของ MBK คาดว่า TCAP จะบันทึกกำไรรวม 433 ล้านบาทจากการขายหุ้น MBK ในไตรมาส 4/60

โดยคำนวณจากประมาณการราคาขายเฉลี่ยของหุ้น MBK ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนถึงวันที่ 9 ต.ค. ที่ราคา 19.29 บาทต่อหุ้น เราประเมินราคาต้นทุนต่อหุ้นของ MBK ของ TCAP ในราคา 3.49 บาทและราคาต้นทุนต่อหุ้นของ TBANK ที่ 10.68 บาท คาดว่าการทำธุรกรรมนี้อาจเพิ่มกำไรของธนาคาจากประมาณการปัจจุบันของเราประมาณ 6% หรือประมาณ 0.37 บาทต่อหุ้น คาดว่าจากกำไรดังกล่าวจะทำให้กำไรสุทธิรายไตรมาสของ TCAP เป็นจุดสูงสุดใหม่ในไตรมาส 4/60

 

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ทยอยซื้อ” KTB ให้ราคาเป้าหมาย 20.40 บาท/หุ้น โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 3/60 อยู่ที่ 9.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และจากไตรมาสก่อน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/59 ว่ากำไรไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อน จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมาก

ส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/60 คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นถึง 186.90% หลักๆมาจากการตั้งสำรองที่คาดว่าจะลดลงมาก หลังจากไตรมาสก่อน KTB มีการตั้งสำรองจำนวนมากเพื่อรองรับ NPL จาก EARTH นอกจากนี้ในไตรมาสนี้ KTB น่าจะมีการบันทึกการชำระหนี้ของ AQ จำนวน 1.6 พันล้านบาทเป็นรายได้ด้วย

โดยสินเชื่อไตรมาส 3/60 จะหดตัว และสำรองน่าจะยังสูง ทั้งนี้คาดว่าสินเชื่อไตรมาส 3/60 ของ KTBจะหดตัวลง 1.7% จากไตรมาสก่อน และทำให้สินเชื่อจากสิ้นปี 59 กลับลงไปหดตัว 1.1%ytdจากการไถ่ถอนสินเชื่อภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ และคาดว่าการตั้งสำรองจะยังคงสูงเนื่องจากในไตรมาสนี้ KTBจะมีกำไรพิเศษจากการรับรู้เงินชำระหนี้จาก AQอย่างไรก็ตามการตั้งสำรองนี้จะน้อยกว่าไตรมาสก่อนมาก

ทั้งนี้ยังคงประมาณการกำไรปี 60 ไว้ที่ 28.9 พันล้านบาท ลดลง 10.4% จากปีก่อน คงราคาพื้นฐาน 20.40 บาท ยังมองว่า KTB จะเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์ หากโครงการภาครัฐจะทยอยออกมา และเป็นธนาคารที่มีปันผลโดดเด่น แนะนำ “ทยอยซื้อ”

Back to top button