‘บิ๊กตู่’ ไปเมืองนอก (น่าจะ) เกิดปัญญา.!?

มีโอกาสไปสำรวจดูวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนยังประเทศอิตาลีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นบรรยากาศของการผสมผสานเอาเป้าหมายทางเศรษฐกิจมารวมไว้กับงานด้านสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี


มีโอกาสไปสำรวจดูวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนยังประเทศอิตาลีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นบรรยากาศของการผสมผสานเอาเป้าหมายทางเศรษฐกิจมารวมไว้กับงานด้านสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

นักท่องเที่ยวเรียกได้ว่าแทบทุกเชื้อชาติพาเหรดกันเข้ามาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ถ้าจะขาดไปบ้างก็คงเป็นพี่จีนเรา เพราะตอนนี้ยังมีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าออก

กระนั้นบรรยากาศที่เป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ก็ช่างดูเด่นชัดและคึกคักมากมายเสียเหลือเกิน

ร้านอาหารร้านรวงโรงแรมต่าง ๆ เต็มเหยียด ชนิดที่เรียกว่าถ้าไม่จอง อย่าหวังจะได้กิน ซื้อ หรือแม้กระทั่งจะนอน

เห็นแล้วก็อดคิดถึงประเทศไทยเราไม่ได้ หนำซ้ำเพื่อนฝรั่งซึ่งถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันตามประสา โดยเฉพาะว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้เป็นเช่นไร

เราก็ตอบได้แบบเหนียม ๆ ว่า “My fellow citizens are still running around in circles, figuring out whether we should reopen the country or not”

แปลให้เข้าใจง่าย ๆ คือหมู่เฮาคนไทยยังเสียงแตก คุยกันไม่รู้เรื่องว่าตกลงควรเปิดประเทศหรือไม่

เป็นเรื่องน่าตกใจที่วันนี้ยังเห็นการแสดงความเห็นจากกลุ่มคนจำนวนไม่น้อย ว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมและไม่ควรเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามา

กระทั่งร้ายแรงสุด ถึงขั้นฟาดฟันกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระดับนายจ้าง-ลูกจ้างว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว เย้ว ๆ แต่จะให้คลายล็อก ๆ ประเดี๋ยวได้ติดเชื้อตาย (..) กันหมด!

คนประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีความเชื่อด้านเดียวว่า “เขาจะเอาเชื้อมาติดเรา”

น่าตลกกว่านั้นคือคนกลุ่มนี้มักเป็นพวกไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องปากท้องสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการอะไรใหญ่โต จะว่าไปคือพวกชอบ “ตัดช่องน้อยแต่พอตัว” นั่นแหละ

ก่อนหน้าไปอิตาลีประมาณ 2 สัปดาห์ ได้ไปสำรวจศึกษาดูสภาพเศรษฐกิจของอีกหนึ่งประเทศมาแล้วด้วย คือเกาหลีใต้

โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ในการรองรับภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงของประเทศนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

เป็นหลักการเรียบง่าย แต่ปฏิบัติได้ยากยิ่ง เพราะต้องอาศัยความแข็งแกร่งในเชิงพื้นฐานเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์

จากการพูดคุยกับนักธุรกิจแถวหน้าของบ้านเขา เหล่านักการเงิน การธนาคาร รวมถึงนักกฎหมายที่ล้วนแล้วมาจากเฟิร์มใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น พบว่ายุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลคือการใช้ “จีดีพี โกรธ์” ต่อกรกับ “ไฮเปอร์อินเฟลชั่น”

นั่นจึงนำมาซึ่งยุทธวิธีที่เรียกว่า “เฟ้อชนเฟ้อ” หรือ “เฟ้อมาก็เฟ้อกลับ” อย่างไรอย่างนั้น

เป็นการคิดเชิงตรรกะอยู่ในตัว กล่าวคือ เมื่อฝั่งราคาสินค้าหรือค่าบริการต่างปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ต้องทำให้รายได้ของคนซึ่งหมายถึงกำลังซื้อในตลาดเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วย

เงินเดือนและค่าจ้างพุ่งทะยานเสียดฟ้า ยกตัวอย่าง นักกฎหมายป้ายแดงจบจาก “ลอว์สคูล” มาหมาด ๆ หากได้งานในเฟิร์มระดับท็อปสามก็สตาร์ตกันเหนาะ ๆ ที่อย่างน้อย 3-4 แสนบาทต่อเดือน

ถ้าขึ้นชั้นเป็นทนายความหุ้นส่วน เอาแค่ระดับ “จูเนียร์ พาร์ตเนอร์” ก็ฟาดเงินเดือนกัน 8-9 แสนบาทสบาย ๆ เป็นอย่างน้อย

กรณีของนักบินพาณิชย์ที่ต่างมีชั่วโมงบินลดลงช่วงสถานการณ์โควิด ก็พากันออกมารับจ๊อบพิเศษขับรถให้ผู้โดยสารระดับวีไอพีนั่ง สนนค่าจ้างวันหนึ่ง 5-6 หมื่นบาท

สูงจนน่าตกใจ!! แต่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่ว่ารายได้จากงานขับรถก็สามารถชดเชยรายได้จากงานขับเครื่องบินได้บ้าง…อย่างน้อยก็ในระดับที่น่าพึงพอใจ

กระทั่งพนักงานกินเงินเดือนทั่วไป ขอแค่มีรายได้มั่นคงหลัก 2-3 แสนบาทต่อเดือน และมีเครดิตสกอร์ในเกณฑ์ดี ก็ยังสามารถกู้เงินซื้อคอนโดฯ ระดับ 50-60 ล้านบาทได้ไม่ติดขัด

ฟังดูเหมือนเป็นระบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะว่าไปก็คงไม่ผิดนัก เพราะรูปแบบนี้คือการเอาเงินใหม่มาต่อเงินเก่า

แต่สำคัญคือเป็นการหมุนเงินในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริง

ค่าสินค้า/บริการที่สูงขึ้น ก็นำมาซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เช่นเดียวกับการขยายการลงทุน ก็ส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อมากขึ้น สถาบันการเงินก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 

ผู้คนในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็ย่อมจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเดิม รัฐก็จัดเก็บภาษีทั้งเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าเก่า

ทั้งหมดถือเป็นกลไกป้องกันความเสี่ยงอยู่แล้วในตัว

สุดท้ายหากรัฐบริหารจัดการอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ก็มาตกอยู่ที่ประชาชนโดยไม่ต้องสงสัย ซึ่งดีกว่าแค่กู้เงินมาแจกอย่างเลื่อนลอยแน่นอน!!

ถือโอกาสฤกษ์งามยามดี “1 มิถุนายน 2565” ประเทศไทยยกเลิก “ไทยแลนด์ พาส” ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจกันได้อย่างจริงจังสักที

โดยเฉพาะการที่ “พลเอก ประยุทธ์” เพิ่งไปเยือน 2 ประเทศมหาอำนาจมาหมาด ๆ ก็น่าจะเป็นการเปิดโลกทัศน์เพื่อให้เกิด “วิสัยทัศน์” ในฐานะผู้นำได้เป็นอย่างดี

แสงสว่างเห็นกันอยู่ทนโท่ที่ปลายอุโมงค์แล้ว เหลือแค่ว่าจะมีปัญญาไปถึงหรือไม่!! 

Back to top button