พาราสาวะถี

สัญญาณทางการเมืองจากขบวนการสืบทอดอำนาจมีทั้งที่เริ่มชัดเจน และแกว่งไกวไปตามเสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่ เรื่องที่น่าจะชัดเจนหากเป็นไปตามข่าวที่เล็ดลอดออกมา


สัญญาณทางการเมืองจากขบวนการสืบทอดอำนาจมีทั้งที่เริ่มชัดเจน และแกว่งไกวไปตามเสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่ เรื่องที่น่าจะชัดเจนหากเป็นไปตามข่าวที่เล็ดลอดออกมาว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจถือฤกษ์ราชาโชค โดยจะยุบสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ก็เข้าล็อกทันทีกับบทสัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม ล่าสุด ครม.พร้อมที่จะไปชี้แจงต่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นไว้หลังจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ไปแล้ว

หากย้อนไปสำรวจข่าวคราวที่เป็นการเปิดประเด็นอันเกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลาต่าง ๆ มักจะไม่ค่อยพลาดจากที่มีการคาดการณ์หรือเป็นคุณแหล่งข่าวได้ปล่อยออกมา กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ฝ่ายค้านต้องการที่จะให้มีการซักฟอกในช่วงปลายเดือนนี้ ขณะที่วิปรัฐบาลขอเป็นต้นเดือนหน้า ส่วนเนติบริกรศรีธนญชัยอ้างว่ารัฐมนตรีหลายคนมีภารกิจไปต่างประเทศขอเป็นหลังกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว แบบนี้จะไม่ให้คิดว่าเป็นการเตรียมพร้อมยุบสภาหนีซักฟอกได้อย่างไร

การทำเช่นนี้ฝ่ายกุมอำนาจโดยเฉพาะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและเครือข่ายในขบวนการไม่กลัวการไปแฉนอกสภาอย่างนั้นหรือ คำตอบก็คือ กลัวแต่ยังน้อยกว่าการถูกลากไปขึงพืดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะผู้อภิปรายจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ดังนั้น เรื่องต่าง ๆ จึงสามารถที่จะหยิบยกมากล่าวหา แม้ว่าหลักฐานอาจจะไม่แน่นหนาเท่าที่ควร แต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับความคุ้มครอง ส่วนการอภิปรายนอกสภา หรือไปพูดบนเวทีดีเบต เวทีหาเสียง คนที่พูดจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายไปเต็ม ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น หากเป็นช่วงของการเลือกตั้ง หากเรื่องที่พูดไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องต่อ กกต.ในข้อหาให้ร้ายโจมตีทำให้คู่แข่งและพรรคการเมืองคู่แข่งเสียหาย ซึ่งมีโทษรุนแรง เมื่อมีเนติบริกรศรีธนญชัยและนักกฎหมายขายตัวรายล้อมรอบตัว ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจย่อมงัดทุกกลยุทธ์มาใช้ให้ได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องมาเกรงกลัวข้อครหาเรื่องอย่างหนา เพราะการอยู่มานานได้กว่า 8 ปีแสดงว่าผ่านจุดนั้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นการชักเข้าชักออกในซีกของ ส.ว.ลากตั้งสอพลอ หนีไม่พ้นข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ให้คนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องติดเงื่อนไขอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี แม้ฝ่ายที่คิดและต้องการเดินหน้าจะอ้างว่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อคนคนเดียว แต่พวกที่มีแนวคิดเดียวกันก็มองเห็นแล้วว่าถ้ายังขืนดันทุรัง คงไม่เป็นผลดีต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในสนามเลือกตั้งแน่ จึงพยายามหาทางที่จะใส่เกียร์ถอยกันอยู่

แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียหน้า คนที่เล่นบทชงก็ยังต้องชูเรื่องนี้ต่อไป ด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถพลิกเกมดึงเสียงของ ส.ว.ต่างสายให้หันมาสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้อยู่ยาวให้ได้ บนเงื่อนไขขยายอายุของ ส.ว.ลากตั้งไปอีก 5 ปี งานนี้ต้องดูกันยาว ๆ เพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในเกมชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยมลูบคมกันของพี่น้องแก๊ง 3 ป. ฝ่ายหนึ่งกระสันที่จะอยู่ยาวตามแผนที่วางกันไว้ ส่วนอีกฝ่ายก็อยากจะเป็นนายกฯ จริง ๆ สักครั้งหลังจากที่ได้นั่งรักษาการมาแล้วเกิดติดใจจนกลายเป็นใจบันดาลแรง

ปัญหาทางการเมืองเวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. อย่างไรก็เสีย พรรคสืบทอดอำนาจกับโอกาสที่จะได้ ส.ส.เกิน 25 ที่นั่งนั้นมีแน่ และน่าจะมากจนเป็นตัวแปรสำคัญกับการเลือกสนับสนุนขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้เสียด้วยซ้ำ ผิดกับน้องเล็กที่ยังไม่รู้ว่าพรรคใหม่ที่ตัวเองกระโดดลงไปเล่นการเมืองแบบเต็มตัวจะได้ ส.ส.ตามจำนวนเพื่อสิทธิ์ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ จากที่เคยทาบทามพวกตัวเต็งและเป็นความหวัง เวลานี้เลยกลายเป็นเก็บตกพวกนักการเมืองส่วนเกินจากพรรคต่าง ๆ เสียแล้ว

รายชื่อที่ ธนกร วังบุญคงชนะ เด็กโปรดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ตัวอยู่พรรคสืบทอดอำนาจ แต่ใจไปที่รวมไทยสร้างชาติแล้ว ปูดออกมา เหมือนจะโชว์ว่าเป็นอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรีจากซีกเพื่อไทยและภูมิใจไทย แทนที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกพรรคกลับเป็นพากันส่ายหน้าเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็น บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ คนที่จะหวนคืนกลับไปอยู่พรรคนายใหญ่ จะถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ฐานะคนทรยศ แค่นี้ก็เห็นอนาคตในสนามเลือกตั้งแล้วว่าเป็นความหวังหรือไม่

เช่นเดียวกันกับ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ และ เอกภาพ พลซื่อ คนเหล่านี้อาจเคยเป็นอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. อดีตนายก อบจ.ที่เคยได้รับความนิยมภายใต้ร่มเงาพรรคเพื่อไทย ก่อนที่บางคนเป็นกบฎช่วงตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จนไม่สามารถที่จะกลับคืนสู่เก้าอี้ ส.ส.ได้อีก เพราะถูกคนในพื้นที่ลงโทษ ดังนั้น หากสถานการณ์การรวมไพร่พลของพรรคที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจลงทุนไปกุมบังเหียนเองทำได้เท่านี้ ก็มองเห็นหนทางข้างหน้าแล้วว่าจะเป็นอย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น วันชัย สอนศิริ ส.ว.ลากตั้งผู้ชงคำถามพ่วงให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ ยังยืดอกยอมรับความจริงว่า หลังเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.จะต้องโหวตเลือกนายกฯ ตามมติของประชาชนเท่านั้น ขืนไปโหวตเลือกโดยชนะจากเสียงของที่ประชุมรัฐสภา แต่ว่าพรรคที่จับมือกันตั้งรัฐบาลมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ก็เท่ากับเป็นการ “พากันลงนรก” นี่อาจจะเป็นตัวแทนของ ส.ว.อีกจำนวนไม่น้อยที่มองสภาพการเมืองหลังเลือกตั้งครั้งหน้าไม่เหมือนเมื่อปี 2562 อีกแล้ว

นอกจากนั้น ภาพที่วันชัยมองก็คงจะไม่ต่างจากคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าความเป็นไปได้ของรัฐบาลหลังเลือกตั้งหนใหม่ นายกฯ คนที่ 30 อาจไม่ใช่แคนดิเดตจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างเพื่อไทยถ้าไม่ได้เสียง ส.ส.แบบแลนด์สไลด์ จะเป็นไปในรูปแบบรัฐบาลเพื่อลดความขัดแย้ง หรืออีกนัยถ้าจะใช้เป็นประโยคแก้ตัวต่อคนที่เลือกคือ จับมือกันเพื่อกำจัดผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งไปจากระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ด้วยการยอมให้คนของพรรคอันดับรองลงไปได้เป็นนายกฯ นั่นก็คือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย การเมืองเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายอยู่แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

Back to top button