ยืนยันแล้ว! กรมวิทย์ฯ พบ “ชายชาวตรัง” ติด BA.2.75 รายแรกของไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ BA.2.75 รายแรกของไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกจัดชั้นสายพันธ์ที่น่ากังวล และต้องจับตา เนื่องจากพบกลายพันธุ์หลบภูมิ แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 เป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการและได้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดและตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ ซึ่งโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างส่งต่อจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565

ทั้งนี้สายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัด BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป อย่างไรก็ตามจากข้อมูลล่าสุดตามฐานข้อมูล GISAD สรุปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย

นพ.ศุภกิจ ระบุว่า BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด 19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น และมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายได้

ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ และขอเน้นย้ำการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงมาตรการการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ

Back to top button